สธ.หวั่นโควิด กทม. พุ่ง แนะรัฐ-เอกชน เวิร์กฟอร์มโฮม 7 วัน หลังสงกรานต์

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

สธ. แนะองค์กรรัฐ-เอกชน หลังสงกรานต์ให้พนักงานเวิร์กฟอร์มโฮม 5-7 วัน พร้อมตรวจ ATK ก่อนกลับมาทำงาน ป้องกันการแพร่เชื้อโควิดในพื้นที่ กทม. 

วันที่ 17 เมษายน 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการของประชาชน หลังเทศกาลสงกรานต์เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ว่า หลักสำคัญที่อยากแนะนำองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนควรปฏิบัติ คือ หลังจากพนักงานหยุดสงกรานต์กลับมาจากต่างจังหวัดแล้ว ให้ใช้การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) 5-7 วันก่อน พร้อมให้ตรวจ ATK ก่อนกลับเข้าทำงานวันแรก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราจะไม่นำเชื้อกลับมากรุงเทพมหานคร ทำให้ติดเชื้อไม่มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้วันละ 3,000 ราย

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเน้นย้ำมาเสมอในการลดอัตราเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 คือการฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ที่ตอนนี้ฉีดได้เพียงร้อยละ 37 จากเป้าหมายร้อยละ 60 จึงจะเรียกได้ว่ามีความปลอดภัย ย้ำว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังไม่น่าห่วงเท่าการติดเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะป้องกันได้ดี แต่หากติดเชื้อมากขึ้นก็อาจจะหลบเลี่ยงได้ยาก แต่กลุ่ม 608 ในพื้นที่กทม.ฉีดวัคซีนไปได้ครอบคลุมแล้ว ฉะนั้นอัตราการป่วยตายก็จะเพิ่มขึ้นไม่เยอะ”

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตจากโควิดเราเคยเห็นตัวเลขสูงถึงวันละ 300 ราย ซึ่งเมื่อเราดูตัวเลขสำคัญก่อนที่จะเสียชีวิต คือ ผู้ที่มีปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 2,00 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 700-800 ราย ยังห่างจากตัวเลขที่เราเคยพบสูงสุดในระลอกเดลต้าที่พบผู้ป่วยปอดอักเสบถึง 6,000 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจอีกเกือบ 1,500 ราย

หลังสงกรานต์ก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาราวร้อยละ 20-30 แต่ไม่ถึงจำนวนพีคที่สุดแน่นอน นอกจากนั้น เรายังมีระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) และรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ก็จะเข้ามาช่วยได้มากขึ้น ลดความหนาแน่นในสถานพยาบาลได้

“สิ่งที่จะทำให้เราผ่านช่วงเวลาเสี่ยงนี้ไปด้วยดี คือ “2U” ด้วย Universal Prevention และ Universal Vaccination เป็นการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะผ่านช่วงสงกรานต์ไปแล้ว แต่ก็สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภาพรวมทั่วประเทศ ต้องถึงร้อยละ 80 และครอบคลุมกลุ่มสูงอายุมากกว่า 60 ปีต้องได้ถึงร้อยละ 60 เพื่อก้าวสู่โรคประจำถิ่นต่อไป” นพ.จักรรัฐ กล่าว