“โควิด” ระยะหลังระบาดใหญ่ 1 ก.ค. สรุปมาตรการ ทำอะไรได้บ้าง

โควิด หน้ากากอนามัย
FILE PHOTO : Jack TAYLOR / AFP

สรุปมาตรการผ่อนคลายคุมโควิด-19 ช่วงหลังการระบาดใหญ่ “Post Pandemic” เริ่ม 1 ก.ค. เป็นต้นไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ยังไม่ถูกประกาศให้เป็น “โรคประจำถิ่น” โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทางกระทรวงสาธารณสุขเรียกว่า ระยะหลังการระบาดใหญ่ หรือ Post Pandemic ที่สถานการณ์ของโรคจะลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขจะสามารถรองรับได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ (17 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบให้มีการปรับระดับพื้นที่สีควบคุมเป็น “สีเขียว” ทั่วประเทศ ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการทั้งในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการ ดังนี้

ถอดหน้ากากตามความสมัครใจ

เมื่อคืนวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 46 ระบุถึงการผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าได้ ตามความสมัครใจ โดยให้มีผลทันที

จากนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่คำแนะนำสำหรับประชาชนหากต้องถอดหน้ากากอนามัย โดยระบุว่า จะถอดหน้ากากได้ เมื่อปฏิบัติดังนี้

  • ขณะอยู่คนเดียว
  • ขณะออกกำลังกาย
  • ขณะรับประทานอาหาร และดื่มน้ำ
  • ขณะอยู่บริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ขณะอยู่นอกอาคารที่โล่งแจ้ง
  • ขณะอยู่ในอาคาร โดยสามารถเว้นระยะห่างได้

สำหรับผู้ที่ควรจะสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา ได้แก่

  • กลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามเกณฑ์
  • ผู้ติดเชื้อ หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการหรือใกล้ชิดกับบุคคลอื่น

ผับ-บาร์เปิดบริการตามกฎหมายกำหนด

ด้านสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน รวมถึงร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดบริการได้

โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไข และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และคำแนะนำของทางราชการ

มาตรการ “เข้าประเทศ”

สำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยสายการบินทั่วโลก ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ออกประกาศ เพื่อสร้างความเข้าใจและให้สายการบินปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างถูกต้อง ดังนี้

1. ยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อเข้าประเทศไทย

2. ผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน สามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีผลตรวจ COVID-19 เพิ่มเติม แต่หากมีอาการป่วย แนะนำให้ตรวจ Rapid Antigen Test (PRO-ATK)

3. ผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนแล้วแต่ไม่ครบโดส จะต้องมีผลการตวรจ PRO-ATK หรือ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง

4. สายการบินจะต้องตรวจสอบเอกสารของผู้โดยสารระหว่างประเทศว่า มีเอกสารการรับวัคซีน หรือผลการตรวจ PRO-ATK หรือผลการตรวจ RT-PCR หรือไม่ หากผู้โดยสารไม่มีเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจโรค

5. สำหรับสายการบินต่างชาติ สามารถส่งเอกสารรับรองลูกเรือว่า เป็นไปตามข้อกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกเรือ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ด่านตรวจโรคอาจตรวจสอบเอกสารอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ยังคงแนะนำให้ผู้โดยสารสวมใส่หน้ากากอนามัยระหว่างเดินทางในเครื่องบิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด

รวมกลุ่มได้ ภายใต้มาตรการ สธ.

สำหรับการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมาก สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่มีการจัดการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ให้ผู้รับผิดชอบ แจ้งจัดกิจกรรมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือของแต่ละจังหวัด

จับตา โอมิครอน “BA.4-BA.5”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ยังคงเฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ที่ได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 และแนวโน้มจากการระบาดทั่วโลกและในประเทศไทย มีความเป็นไปได้สูงว่า จะกลายเป็นไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดหลังจากนี้

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ข้อมูลตอนนี้พบว่า สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจากแบ่งตัวเร็วกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า รุนแรงมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้าโรงพยาบาล หรืออาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจนเพียงพอ ถือเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม

อย่างไรก็ตาม การที่มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นมองได้ 2 แง่ คือ 1. ตำแหน่งการกลายพันธุ์ และ 2. คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการหน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสที่แพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมสังคมที่มากขึ้นด้วย