เปิด 3 กลุ่มพื้นที่พบโรคพิษสุนัขบ้า เผยปัญหา อปท.จัดซื้อวัคซีนเหตุ สตง.ท้วงติง

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ออกมาเปิดเผยว่าเนื่องจากเทศบาลถูกตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณและไม่มีอำนาจซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ว่า ปี 2559 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าสูงขึ้นจริง แต่ในปี 2560 นี้ถือว่าตัวเลขลดน้อยลงแล้ว ทราบว่าที่ อปท.เคยใช้งบในการซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้าแต่ต่อมาได้ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบและท้วงติงเรื่องการใช้งบซื้อวัคซีน ซึ่งจุดนี้ต้องถามทาง อปท. อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทราบว่ามีการส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงประเด็นการซื้อวัคซีนของอปท. โดยทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาว่าสามารถซื้อได้ และได้มีการเบิกซื้อวัคซีนแล้ว ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่ทางกระทรวงมหาดไทยต้องหารือกับทางสตง.

นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่พบโรคพิษสุนัขบ้ามากขึ้นเพราะมีการเฝ้าระวังในเชิงรุกของกรมปศุสัตว์ มีการส่งหัวสุนัขตรวจมากขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์โรคในภาพรวมปี 2560 เจอโรคในสุนัขและแมวประมาณร้อยละ 17 สำหรับเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้านั้นแบ่งออกเป็น ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ให้ซื้อวัคซีนในพื้นที่ของตน ขณะที่กรมปศุสัตว์ จะซื้อวัคซีนเพื่อฉีดในส่วนของป้องกันโรคระบาด และในสุนัขจรจัด ส่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขนั้น จะเป็นวัคซีนป้องกันในคน ซึ่งผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) โดยในแต่ละปีมีจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าประมาณ 2-3 แสนคน

“จากการเฝ้าระวังและรณรงค์ทำให้การพบโรคมากขึ้น ซึ่งในแง่การเฝ้าระวังและป้องกันระบาดจะทำให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งในเรื่องวัคซีนทั้งในมนุษย์และในสัตว์ก็มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีการตรวจสอบคุณภาพถึง 2 ขั้นตอน เดิมจะตรวจสอบจากโรงงานที่ผลิตจากประเทศต้นทางว่าผ่านคุณภาพหรือไม่ แต่ขณะนี้เมื่อเข้ามาประเทศไทยจะทำการตรวจสอบซ้ำอีกรอบ เพื่อให้ได้คุณภาพชัดเจน อย่างไรก็ตาม สำหรับในคนหากถูกสุนัขที่สงสัยป่วยพิษสุนัขบ้ากัด หรือไม่แน่ใจก็ต้องพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน โดยปกติจะฉีด 5 เข็ม และฉีดเซรุ่มพิษสุนัขบ้า(สารสกัดน้ำเหลือง) อีก 1 เข็ม แต่ในกรณีหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 14 วันสุนัขหรือแมวที่กัดไม่เจ็บป่วยหรือตายแพทย์ก็จะพิจารณาตามแนวทางเวชปฏิบัติอีกครั้ง” นสพ.พรพิทักษ์ กล่าว และว่า สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้น ยึดหลัก 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ขณะที่สุนัขที่เลี้ยงขออย่าเลี้ยงปล่อย เพราะอาจเสี่ยงรับเชื้อจากสุนัขแหล่งอื่นได้

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพบว่ามี 3 พื้นที่ที่พบการเกิดโรคหลักๆ คือ 1.กลุ่มเศรษฐกิจพิเศษมี 4 จังหวัด คือ กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี 2.พื้นที่อีสานใต้ คือ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และ3.ตามแนวชายแดนทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งไม่ติดกับพื้นที่ที่ช่องทางเข้าออกสะดวก และมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ มีจ.ตาก และจ.กาญจนบุรี และอีกฝั่งคือ เชียงราย อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่เมื่อพบโรค ทางกรมปศุสัตว์จะประกาศเป็นพื้นที่โรคระบาดพิษสุนัขบ้าทันที และตีวง 3 กิโลเมตรในรัศมี ป้องกันโดยใช้วัคซีน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการนำเข้าวัคซีนมากขึ้น และเป็นปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ ขณะที่อปท.เจอปัญหาหนัก เนื่องจากที่ผ่านมาถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ท้วงติงในการซื้อวัคซีนว่าไม่ถูปประเภท เพราะที่ผ่านมางบตรงนี้จะใช้ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ขอให้เปลี่ยนไปใช้เป็นกลุ่มเวชภัณฑ์แทน ซึ่งจุดนี้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการซื้อ อาจทำให้เกิดปัญหาติดขัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทางกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้เสียชีวิตโรคพิษสุนัขบ้ารวม 6 คนในปี 2560 ส่วนปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย

Advertisment

 

ที่มา มติชนออนไลน์