ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก!! GISTDA จับตาสถานีอวกาศเทียนกง-1 โหม่งโลกไม่เกิน เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานีอวกาศ “เทียนกง-1” ของจีน ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จากฐานปล่อยจรวดเมืองจิ๋วฉวน มณฑลกานซู มีวงโคจรห่างจากโลก 350 กม. มีขนาด 8.5 ตัน

โดยสถานีอวกาศเทียนกง ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทดสอบปฏิบัติการหลายอย่างในอวกาศ เพื่อเตรียมการขั้นต้นสำหรับการสร้างสถานีอวกาศของจีนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563

โดยเทียนกง 1 มีความพิเศษไม่เหมือนกับยานลำก่อนๆ ของจีน ซึ่งภายในตัวยานได้ติดตั้งระบบการเชื่อมต่อไว้มากมาย รวมถึงเตรียมรอรับการเชื่อมต่อยานอวกาศไร้มนุษย์เสิ่นโจว 8 ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกของจีนที่จะเชื่อมต่อยานอวกาศที่เคลื่อนที่อยู่ในวงโคจร และจีนจะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจาก สหรัฐฯ และรัสเซียที่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจร และมีกำหนดว่าจะควบคุมให้กลับสู่โลกลงสู่ทะเล หรือเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ

แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2559 สำนักงานอวกาศแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของจีนได้แจ้งไปยังสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ว่าจีนไม่สามารถความคุมสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ ทำให้ไม่มีใครสามารถระบุเวลาและจุดตกได้อย่างชัดเจน

นายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียมของจิสด้า เปิดเผยว่า การตกของวัตถุจากอวกาศที่ตกมายังพื้นผิวโลกนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการส่งดาวเทียมดวงแรกได้ “สปุตนิก” ของสหภาพโซเวียต โดยทั่วไปแล้วชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของดาวเทียมจะถูกเผาไหม้ไปกับชั้นบรรยากาศ แต่กรณีที่เป็นสถานีอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเทียม จะมีชิ้นส่วนบางชิ้นจะเผาไหม้ไม่หมดตกสู่พื้นผิวโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมากว่า 60 ปี ชิ้นส่วนจากอวกาศที่ตกลงมาสู่พื้นผิวโลกนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ให้ชีวิตและทรัพย์สินแม้แต่ครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายอวกาศหรือข้อตกลงทางด้านอวกาศมีการกล่าวถึงรายละเอียดของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากดาวเทียมหรือสถานีอวกาศ โดยประเทศเจ้าของจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย อย่างกรณีเหตุการณ์ล่าสุดที่มีเศษชิ้นส่วนตกลงมาจากอวกาศ และยังไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจนได้ตกที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จิสด้าก็ได้ติดตามและตรวจสอบวัตถุดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปของแหล่งที่มาว่าเป็นชิ้นส่วนอะไร และใครเป็นเจ้าของ เพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

“กรณีสถานีอวกาศเทียนกง-1 ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้วิตกกังวลหรือตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทางจิสด้าได้ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งข้อมูลให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป”

ทางด้าน ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจรของ GISTDA เปิดเผยว่า ตั้งแต่ทางการประเทศจีนได้แจ้งการสูญเสียการควบคุมของสถานีอวกาศเทียนกง ความสูงของสถานีอวกาศได้ลดระดับลงมาอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดการณ์ว่าจะตกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2561

สำหรับแนวโน้มและผลกระทบในเชิงพื้นที่ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน แต่สามารถคาดการณ์พื้นที่จะตกสู่โลกในช่วงละติจูด 43 องศาเหนือ และละติจูด 43 องศาใต้ ทั้งนี้ GISTDA ในฐานะหน่วยปฏิบัติภารกิจทางด้านอวกาศของไทย ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยทางจิสด้ามีโปรแกรมที่ใช้ติดตามความสูงของสถานีอวกาศ รวมไปถึงความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติเพื่อติดตามการตกของสถานีอวกาศเทียงกง-1 ในครั้งนี้