ปี’60 เด็กกรุงเทพฯท้องเสียติดไวรัสโรต้า1.3 หมื่นคน หมอแนะเฝ้าระวังอาหาร-ของเล่น

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไวรัสลงกระเพาะ หรือท้องเสียจากเชื้อไวรัสในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า สถิติในปี 2560 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในกรุงเทพฯ ท้องเสียประมาณ 13,000 คน ส่วนใหญ่มักเกิดจากไวรัสโรต้า และไวรัสโนโร โดยไวรัสโรต้าจะเข้าสู่ร่างกายด้วยการกิน การแพร่กระจาย จาก ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะที่มีเชื้อไวรัสดังกล่าวจะออกมาด้วย และเกาะอยู่บริเวณตามบริเวณต่างๆ เช่น อาหาร ลูกบิดประตู ของเล่นเด็ก ของใช้ส่วนรวม ฯลฯ เมื่อมีคนมาจับสิ่งของเหล่านั้นแล้วไม่ล้างมือ เมื่อหยิบจับอาหารกินต่อเชื้อก็เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จากนั้นติดเชื้อไปยังกระเพาะอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง และเมื่อเชื้อเดินทางถึงลำไส้ทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมา สภาพอากาศเย็น ทำให้เชื้อไวรัสเหล่านี้อยู่ในอาหารและสภาพแวดล้อมได้นานขึ้น เมื่อกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ไม่ได้ใช้ช้อนกลาง เมื่อกินอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อ อาจติดเชื้อไวรัสนี้ได้

นพ.เมธิพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโรต้า คือ กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบมากที่สุดในเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ปี ฉะนั้น ผู้ปกครองต้องทำความสะอาดของเล่นเด็กอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ สถานที่พบเชื้อมากที่สุด คือ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และบ้านบอล จึงต้องทำความสะอาดด้วย ส่วนไวรัสโนโร มักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ สาเหตุจากการกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ผักสด แซนวิช ขนมปัง เค็ก หอยนางรมสด ฯลฯ อาหารเหล่านี้เมื่อมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโนโรแม้เพียง 10 ตัวก็อาจก่อให้เกิดโรคได้ ผู้ที่เคยป่วยแล้วจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ 2-3 เดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงมักพบผู้ป่วยท้องเสียจากเชื้อไวรัสโนโรซ้ำได้บ่อยครั้ง

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนโรต้า ที่ขึ้นทะเบียนจำหน่ายในประเทศไทย เป็นวัคซีนสำหรับเด็กเล็กชนิดกิน 2 ชนิด ทั้งนี้ สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานควบคุมคุณภาพวัคซีนที่ใช้ในประเทศ ได้มีการตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน ไม่พบสิ่งผิดปกติ จึงมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ใช้ในประเทศมีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สำหรับกรณีที่เป็นข่าวว่ามีการใช้วัคซีนโรต้าที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้กลืนกันนั้น ขอย้ำว่าวัคซีนโรต้าที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้มีการจำหน่ายและใช้ในปี 2541-2542 เป็นวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรต้าชนิด Rhesus-human reassortant tetravalent vaccine (RotashieldTM) แต่ต่อมาพบว่าวัคซีนชนิดนี้สัมพันธ์กับการเกิดภาวะลำไส้กลืนกัน (intussusception) จึงได้หยุดจำหน่าย และไม่มีใช้ในประเทศ หากมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศจะต้องมีการรับรองรุ่นการผลิตโดยสถาบันชีววัตถุ ก่อนจำหน่ายทุกครั้ง

ที่มา มติชนออนไลน์