เปิดปม “บิ๊กตู่” สั่งแขวน ณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าฯทางด่วน จับตาบอร์ดกทพ.ประชุมตั้งรักษาการ 12 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ลงนามในคำสั่งย้ายนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ไปปฎิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.2560 เป็นต้นไป เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องคุณสมบัติของนายณรงค์ที่มีผู้ร้องเรียนว่าทำผิดเงื่อนไขสัญญาจ้าง เนื่องจากในช่วงที่นายณรงค์ลงสมัครสรรหาผู้ว่าการการทางพิเศษฯยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ของกทพ. ตามที่คณะกรรมการ(บอร์ด)กทพ.มีพล.อ.วิวรรธ์ สุชาติ เป็นประธาน มีคำสั่งให้ดำเนินการ

ทั้งนี้ คาดว่าผู้ที่บอร์ดจะแต่งตั้งให้รักษาการผู้ว่าการการทางพิเศษฯ คือ นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากอาวุโสสูงสุด ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งวันที่ 12ก.ค.นี้บอร์ดกทพ.จะมีการประชุม

แหล่งข่าวจากบอร์ดกทพ.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องคุณสมบัติก็เป็น 1 ในเหตุผลที่ทำให้นายณรงค์ถูกย้ายไปสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว แต่ว่าเหตุผลลึกๆ มาจากการที่นายณรงค์ และประธานบอร์ดมีแนวทางการดำเนินการที่ต่างกัน และมีนโยบายหลายอย่างจากประธานบอร์ดที่นายณรงค์ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามแผน

โดยเฉพาะการผลักดันโครงการก่อสร้างทางด่วนใหม่ จำนวน 2 เส้นทาง ที่รัฐบาลมีนโยบายจะระดมทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(TFF)มาดำเนินการ จำนวน 44,819 ล้านบาท ได้แก่ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 31,244 ล้านบาทและสายทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2และN3 เงินลงทุน 14,382 ล้านบาท ระยะทาง 10.5 กม.

“ภารกิจของผู้ว่าการทางฯมีหลายอย่าง ไม่ว่าการปรับปรุงการให้บริการต่างๆ เช่น บัตรอีซี่พาส ปัญหารถิดบนทางด่วน การพัฒนาโครงการใหม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า ซึ่งTFF ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุน เพราะจะใช้รายได้ของการทางฯมาดำเนินการคงไม่เพียงพอ และที่ผ่านมาผู้ว่าการทางฯไม่พยายามทำความเข้าใจกับองค์กร จนทำให้การจัดตั้งกองทุนต้องเลื่อนออกไป” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพิจารณาขยายอายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1(เฉลิมมหานคร) และขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 ก.พ. 2563ที่ผู้ว่าการทางฯยังศึกษาไม่แล้วเสร็จจะต่อหรือกทพ.จะดำเนินการเอง อีกทั้งรอการตีความด้านกฎหมายจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 หรือไม่ เนื่องจากโครงการดำเนินการก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

“ประธานบอร์ดก็สไตล์ทหาร สั่งแล้วต้องได้ ยิ่งเร็วยิ่งดี แต่ผู้ว่าการทางฯจะค่อนข้างช้าๆ เฉื่อยๆ ที่ผ่านมางานเลยไม่ค่อยออก” แหล่งข่าวกล่าวย้ำ