ควบรวมทรู-ดีแทค จับตา กสทช. เคาะ-ไม่เคาะข้อสรุป วันนี้

ควบรวมทรู-ดีแทค จับตา กสทช. เคาะ-ไม่เคาะข้อสรุป วันพรุ่งนี้

จับตาวันนี้ ! ควบรวมทรู-ดีแทค จะได้ไปต่อหรือไม่ ? จับตา กสทช. เคาะ-ไม่เคาะข้อสรุป 

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีการประกาศรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ในลักษณะบริษัทร่วมลงทุน (Joint Venture)

โดยได้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ “บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด” เป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นธุรกิจเทคโนโลยี เอไอ ดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม คลาวด์เทคโนโลยีอวกาศ รวมไปถึงการเป็นเวนเจอร์แคปิตอล ระดมทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ตอัพในประเทศไทย

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองได้วินิจฉัยเอาไว้ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจเต็มในการระงับการควบรวมธุรกิจ หากการควบรวมธุรกิจส่งผลให้เกิดการผูกขาด

ต่อมา กสทช. ได้เห็นชอบแผนงาน (Roadmap) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดประชุม Focus Group เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ตลอดจนมอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. และที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาผลกระทบและสังคมในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับโคแฟคประเทศไทย ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้คัดค้านกรณีดังกล่าว 10,000 คน จาก Chang.org เข้ายื่นต่อ กสทช. ในวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ กสทช. มีกำหนดพิจารณาให้ข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.)

โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น 7-120% โดยหากให้ทรูและดีแทคควบรวมได้ ทางเอไอเอสและ 3BB ก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอข้อมูลผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ตามที่เคยเสนอ กสทช.ว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ตลาดจะกระจุกตัว มีผลต่อราคาหลังควบรวมที่จะพุ่งขึ้น 5-200% อีกทั้งจะกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้จีดีพีของประเทศลดลง 0.05-2% หรือ 1-3 หมื่นล้านบาท อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม 0.05-2% สมมุติฐานนี้คือกรณีที่ กสทช.ไม่เข้าควบคุมหลังควบรวม

ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการคณะกรรมการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู-ดีแทค กล่าวว่า ประเด็นที่ว่าการควบรวมจะช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ เอื้อให้เกิดการขยายการลงทุนนั้น ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับประโยชน์ผู้บริโภค ซึ่งจะต้องมาจากการแข่งขันและค่าบริการที่ถูกลง อีกทั้งโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ หากค่าบริการแพงขึ้นย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมหลายส่วนด้วยกัน แม้จะย้ำว่าจะไม่ยืดเยื้อ แต่โอกาสที่จะเคาะให้จบภายในวันที่ 10 ส.ค.ก็ดูที่จะไม่ง่ายเลย