คืนนี้ ฝนดาวตกแรกต้อนรับปีใหม่ 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่า

ฝนดาวตก
ภาพจาก PIXABAY

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชวนดู ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ฝนดาวตกแรกต้อนรับปีใหม่ 2566 คืนนี้ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า

วันที่ 3 มกราคม 2566  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” หลังเที่ยงคืนวันนี้ ตีสองเป็นต้นไป ศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มคนดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร คาดมีอัตราการตกสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมง สามารถเริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้สนใจสามารถชมได้ด้วยตาเปล่า แนะนำชมในพื้นที่มืดสนิท ไร้แสงเมืองรบกวน และอย่าลืมคำนึงเรื่องความปลอดภัย

ฝนดาวตกควอดรานติดส์
ภาพจากเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวมังกร (Draco) เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นศูนย์กลางจะค่อย ๆ เคลื่อนมากลางฟ้า

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม – 12 มกราคม ของทุกปี เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ตัดเข้ากับสายธารเศษอนุภาคที่ดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) เหลือทิ้งไว้ขณะเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในทุก ๆ 5.5 ปี เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball)

ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ สำหรับฝนดาวตกควอดรานติดส์ ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่เคยมีในแผนที่ดาวในช่วงศตวรรษที่ 19 (ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว) อยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร