หนึ่งประเทศสองระบบ จีนไม่ปลดแบนคริปโตตามฮ่องกง

ฝ่ายกำกับดูแลหลักทรัพย์ฮ่องกง เปิดเฮียริ่งระเบียบดำเนินการแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์เสมือนจริง ลุ้นผล 1 มิ.ย. 2566 ปลดล็อกรายย่อยซื้อขายได้ ทางการจีนยันไม่ขัดขวาง ย้ำฮ่องกง มีอำนาจเท่าที่ไม่กระทบกับการเงินของแผ่นดินใหญ่

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแห่งฮ่องกง (SFC) ได้ ประกาศ รับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป เรื่อง ระเบียบเกี่ยวกับผู้ดำเนินการแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์เสมือน (Virtual Asset) ที่ได้รับใบอนุญาตจาก SFC ตั้งแต่ 20 กุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 นี้

ดันฮ่องกงเป็น Crypto Hub

นโยบายทางเศรษฐกิจยุคใหม่ของฮ่องกงได้มีการผลักดันเรื่องการเป็นศูนย์กลางคริปโตเคอร์เรนซี หรือศูนย์กลางสินทรัพย์เสมือนมายาวนานแล้วตั้งแต่ปี 2561 มีการตราระเบียบเกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งอนุญาตเฉพาะนักลงทุนสถาบัน ในขณะที่รัฐบาลกลางปักกิ่งควบคุมและแบนคริปโตเคอร์เรนซีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางเข้าควบคุมเกาะฮ่องกงอย่างเข้มข้น เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องเอกราชฮ่องกง ส่งผลให้นโยบายบางประการที่อาจขัดกับรัฐบาลกลางถูกจับตา ประกอบกับการเข้าสู่ช่วงขาขึ้นของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี รัฐบาลกลางจึงได้ปราบปรามคริปโตอย่างจริงจัง ส่งผลกระทบต่อเหมืองขุดคริปโตจำนวนมาก ในขณะเดียวกันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีถูกปราบปราม โดนปิด หรือย้ายหนีออกจากจีน รวมถึงจากฮ่องกงด้วย

ดังนั้นความเคลื่อนไหวล่าสุด SFC เพื่อเตรียมระเบียบที่เหมาะสมและชัดเจนในการผลักดันฮ่องกงเป็น “Crypto Hub” อีกครั้ง นั่นคือการเปิดให้รายย่อยซื้อขายได้โดยตรง จึงได้ระบุเกณฑ์สำหรับสินทรัพย์ หรือสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้ให้ชัดเจนขึ้น มีแนวทางการป้องกันผู้ซื้อขาย

โดยแพลตฟอร์มการซื้อขายจะรับผิดชอบในการตรวจสอบทีมที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์ รวมถึงเอกสารทางการตลาด ความเสี่ยงทางกฎหมาย และกำหนด “ความต้านทานต่อการโจมตีทั่วไป” เช่น การโจมตี 51% โดยคาดว่าคณะกรรมาธิการจะมีการเสนอให้ซื้อขายเฉพาะ “สินทรัพย์เสมือนขนาดใหญ่” เท่านั้น

นอกจากนี้ มีการทำข้อเสนอแนะ ให้ผู้ประกอบการศูนย์หรือแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลายประการ ก่อนที่จะเปิดการซื้อขายสำหรับนักลงทุนรายย่อ ซึ่งรวมถึงความรู้และการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนอาจกำหนดขีดจำกัดว่าอนุญาตให้ผู้ค้าเปิดเผยได้มากน้อยเพียงใด

คณะกรรมาธิการ ระบุว่า ภูมิทัศน์ของสินทรัพย์เสมือนจริงได้เปลี่ยนไปอย่างมาก นับตั้งแต่เปิดตัวกรอบการกำกับดูแลในปัจจุบัน ย้อนกลับไปในปี 2561 ซึ่งระเบียบเก่านี้ อนุญาตให้เฉพาะแพลตฟอร์มการซื้อขายเพื่อให้บริการแก่ผู้ค้ามืออาชีพและลูกค้าสถาบันเท่านั้น

ประเด็นต่าง ๆ ของระเบียบคริปโตนี้ ยังอยู่ในช่วงการอภิปรายและรับฟังความเห็น คาดว่าระเบียบข้อกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566

หนึ่งประเทศสองระบบ

รัฐบาลปักกิ่ง ไม่ได้ขัดขวางดำเนินการของฮ่องกง แม้จะมีนโยบายปราบปรายคริปโตเคอร์เรนซีอย่างต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลรัฐบาลไม่ได้แบนเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคริปโต มีปล่อยให้บริษัทเทคโนโลยีภายในประเทศรวมถึงหน่วยงานของรัฐพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคริปโต ให้เป็นของตัวเองโดยเฉพาะระบบบล็อกเชน บริษัททั้งหลายนั้นบางรายมีโทเค็น หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลิสต์อยู่บนกระดานซื้อขายระดับโลกจำนวนมาก เช่น คริปโต สกุล WAN, VET เป็นต้น 

คอยน์เทเลกราฟ รายงานว่า ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลฮ่องกงได้เริ่มแนวทางการอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์เสมือน ซึ่งอาจตรงข้ามกับการแบนของจีน เจ้าหน้าที่ปักกิ่งไม่ได้ต่อต้านแนวคิดนี้อย่างโจ่งแจ้ง และมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายคริปโต ในฮ่องกงบ่อยครั้ง เพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น บางส่วนมองว่าอาจเปิดให้ใช้ฮ่องกงเป็นฐานทดสอบระเบียบด้านคริปโต

ฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษ ที่สามารถมีกฎหมายและธรรมาภิบาลเป็นของตนเอง ตามคำรับรองจากปักกิ่งที่ให้ไว้กับเจ้าอาณานิคมเดิมเมื่อได้รับดินแดนคืนในปี 2540 ว่าจะไม่แทรกแซงระบบเศรษฐกิจและการเมืองของจีนเป็นเวลา 50 ปี หรือที่เรียกว่าหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

นายนิค ชาน สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติและทนายความด้านสินทรัพย์ดิจิทัล กล่าวว่า ตราบใดที่ไม่มีการละเมิดปฏิญญาเสรีภาพการปกครองฮ่องกง และไม่คุกคามเสถียรภาพทางการเงินในจีน เมืองนี้ก็มีอิสระที่จะดำเนินการตามแนวทางของตนเอง

ทั้งนี้ ไม่มีคำแถลงหรือสัญญาณใด ๆ ว่าทางปักกิ่งจะยกเลิกนโยบายการปราบปรามคริปโตเคอร์เรนซี แม้ดินแดนในปกครองจะเป็นศูนย์กลางของคริปโตก็ตาม