“แสนรู้” มองอนาคต ยุคต่อไปของมาร์เก็ตติ้งออนไลน์

capture: จากเว็บไซต์แสนรู้

สัมภาษณ์

ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทในการทำการตลาดของธุรกิจก่อให้เกิดธุรกิจ social listening ที่จะเก็บข้อมูลสังคมออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแบรนด์ต่าง ๆ ช่วยวางกลยุทธ์การตลาดให้เกิดประโยชน์ต่อแบรนด์หรือป้องกันและบริหารจัดการเหตุวิกฤตที่จะเกิดขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “ชิตพล มั่งพร้อม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง “แสนรู้ (Zanroo)” สตาร์ตอัพ ผู้ให้บริการ social listening ที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในไทย และขยายธุรกิจไปแล้ว 15 ประเทศทั่วโลก

Q : จุดเริ่มต้น “แสนรู้”

ก่อนนั้นก็ทำหลายอย่าง ตั้งแต่ขายแซนด์วิช ขายกระเป๋า ที่ต้องนั่งรอคนมาซื้อก็เลยคิดหาธุรกิจที่สเกลได้ ออกต่างประเทศได้ ไม่ต้องลงทุนเยอะ สุดท้ายลงตัวที่บริษัทซอฟต์แวร์ เลยชวนคุณอ๋อม อุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ซึ่งเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วย ตอนนี้เป็น CTO แรก ๆ ทำอีคอมเมิร์ซได้ 3 เดือน รู้เลยว่า ไม่เวิร์ก จึงหันมาทำดาต้าเบส เพราะธุรกิจน่าจะอยากรู้ข้อมูล

Q : บิ๊กดาต้าบูม

เมื่อ 5 ปีก่อน ภาคธุรกิจยังไม่รู้จักว่าโซเชียลคืออะไร เขาอาจจะกลัว แต่ที่เราทำมันเมกเซนส์ที่จะมี ลูกค้าเลยซื้อง่าย ปัจจุบันลูกค้าเข้าใจและรู้จักใช้ข้อมูลมากขึ้น ยิ่งซื้อง่ายขึ้นอีก และเมื่อก่อนอาจจะใช้ข้อมูลแค่ในเชิงวัดผล แต่ตอนนี้ธุรกิจเอามาเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ล่าสุดมีการอินทิเกรดระบบแชตบอท ต่อกับระบบ CRM

Q : มีเครื่องมือใหม่

ชื่อ “อรุณ” เป็น เครื่องมือใหม่ให้ลูกค้า ที่จะบอกค่า ROI (Return on Investment) ช่วยบอกลูกค้าได้ว่าถ้าจะทำโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง ควรนำเงินไปลงที่ไหน เท่าไหร่ ยังไง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำมาร์เก็ตติ้ง จะเปิดให้บริการ 3 เม.ย. นี้ ใน 3 ประเทศคือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และยังมีเทคโนโลยีอื่นอีกเยอะที่ต่อยอดกับ social listening ได้ แต่ 1-2 ปีนี้ โฟกัสกับอรุณก่อน

Q : ตลาดอิ่มตัวแล้วหรือยัง

ตลาด social listening ในไทยอิ่มตัวแล้ว แสนรู้เป็นอันดับ 1 ในไทย ในไทยอยู่ในจุด consolidate มีคนครองตลาดแค่ไม่กี่ราย ดังนั้นผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ หรือสตาร์ตอัพจะเข้ามาโอกาสเติบโตก็น้อย เพราะคนที่อยู่มานานยิ่งได้เปรียบจากข้อมูลที่ยิ่งมีเยอะ การรีเลชั่นกับลูกค้าและฟีเจอร์ต่าง ๆ ก็พัฒนาไปไกล ส่วนตลาดในต่างประเทศแข่งขันกันค่อนข้างสูง

ตลาดโซเชียลมีเดียก็แน่น ใครจะทำโซเชียลแข่งกับ facebook ก็ไม่ได้แล้ว แม้แต่ facebook ก็ต้องปรับตัว เพราะคนเริ่มอยู่บน facebook น้อยลง มีแอปอื่นมาแย่งเวลา ไอจี, ทวิตเตอร์แต่ถึงอย่างไร โซเชียลก็ยังจะเติบโตอยู่ ข้อมูลก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ได้มาจากแค่ช่องทางโซเชียลอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะหลายธุรกิจก็เริ่มขยับเข้าไปสู่ออนไลน์ เนื่องจากทุกวันนี้การโกออนไลน์ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นความจำเป็นไปแล้ว ซึ่งก็จะยิ่งทำให้มีดาต้าที่ต้องเก็บต้องวิเคราะห์มากขึ้น ก็จะมีศัพท์ใหม่คือ marketing stack

Q : ต่างจากปัจจุบันอย่างไร

marketing stack มองว่าทุกอย่างจะเชื่อมต่อกันหมด เป็นเหมือนสมาร์ทโฮม ที่สามารถเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ไว้ในที่ที่เดียว เป็นการเปลี่ยนสู่ยุคของ DT (data technology) ที่มีดาต้ามหาศาล ถ้าทุกดาต้าทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์มาต่อกันได้ ก็จะเกิดเป็นชั้นสแต็กของดิจิทัล สามารถใช้ AI เข้ามาช่วยจัดการ ดังนั้น 5 ปีจากนี้จะเป็นยุคของ AI และการเชื่อมต่อเอเจนซี่ต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัว

Q : ความท้าทาย

เวลาเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด ไม่ใช่คู่แข่ง เพราะเราแข่งกับตัวเองเท่านั้น ต้องมีเป้าหมายเสมอว่า ปีนี้เราจะโตเท่าไหร่ ปีหน้าแผนงานของแต่ละคนคืออะไร ที่ผ่านมาเราทำงานหนักและแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้เร็วกว่า แต่สิ่งสำคัญคือ วิธีคิดของทีมงาน ผมเชื่อว่าธุรกิจโตตามคนและวิธีคิด ไม่ได้โตตามโซเชียล การแข่งขันมันมีอยู่ทั่วโลก แต่จะคิดแก้สถานการณ์อย่างไร ถ้าคิดได้ ก็โตได้ เพราะเรามีจุดแข็งคือ เทคโนโลยี

Q : คนยังเป็นปัญหาใหญ่

เป็นปัญหาที่เกิดกับทั่วโลก อย่างเราเองโต 250% ทำให้คนทำงานไม่ทัน ปัจจุบันมีพนักงาน 150 คนทั่วโลก มีในไทย 90 คน ปีนี้ตั้งเป้าจะรับไม่เกิน 200 คน ที่ขาดเยอะที่สุดเป็นเซลส์ในแต่ละประเทศ ส่วนเอ็นจิเนียร์ นักพัฒนาเป็นอะไรที่ขาดประจำ ก็พยายามเติมอยู่ตลอด แต่เราค่อนข้างเลือกเยอะ เรายอมจ่าย บางคนเป็นหลักแสนก็มี

และก็สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีแนวทางคือ DOIT โดย D คือ don”t blame คือ อย่าไปบ่น ให้แก้ไข O คือ opportunity is here แสนรู้เราโตได้เรื่อย ๆ เพราะเราไปหลายประเทศ ทำให้มีตำแหน่งงานที่ว่าง ดังนั้นโอกาสมีมาก และผมเองก็ไม่ได้อยากเป็น CEO ตลอดชีวิต ดังนั้นผมเองก็เปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถกว่าผมมาทำหน้าที่ได้ I คือ Innovation start with why อยากให้ทุกคนตั้งคำถามว่าทำไมต้องมาทำงาน บางคนไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่ทำ ทำทำไม ดังนั้นถ้าคุณต้องการเรื่องเงิน ที่นี่ตอบโจทย์ได้ เพราะพนักงานเราน้อย และเรากล้าจ้าง เราเป็นสตาร์ตอัพที่จ่ายสูงเท่ากับบริษัทอินเตอร์ และสุดท้าย T คือ teamwork ทุกวันศุกร์ผมจะให้ทุกคนพูดคนละ 10 นาที เพื่อคุยถึงปัญหาว่ามีอะไร ทำอะไรไปแล้ว และต่อไปจะทำอะไร

Q : เป้าหมายเบอร์ 1 ในทุกตลาด

เราเคยตั้งเป้าว่าจะรุกไป 40 ประเทศ แต่ได้เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่แล้ว คือ จะโฟกัสใน 15 ประเทศที่เรากำลังทำตลาดอยู่ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ออสเตรเลีย ศรีลังกา ปากีสถาน อังกฤษ เพราะใน 15 ประเทศนี้เราเป็นเบอร์ 1 แค่ 2 ประเทศ คือ ไทยกับมาเลเซีย ส่วนสิงคโปร์อยู่อันดับ 5 โดยไทยมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 60% ซึ่งเป้าหมายเราต้องการให้ประเทศไทยมีสัดส่วนเหลือ 10% ดังนั้นเราตั้งใจที่จะขยับเป็นเบอร์ต้น ๆ ก่อน และ 3-5 ปีค่อยขยายไปให้ครบ 40 ประเทศ โดยประเทศที่จะเข้าในปีนี้ได้แก่ อเมริกา และจีน ส่วนรายได้ตั้งเป้า 1,000 ล้านบาท โดยแต่ละปีเราเติบโตประมาณ 200-400% โดยในปีที่ผ่านมาเราเติบโต 250% ซึ่งเราวางเป้าหมายในอนาคต 3-5 ปี ค่อยรุกครบ 40 ประเทศ และต้องมีรายได้ 2 พันล้านบาท/ปี

Q : ยูนิคอร์นไม่ใช่เป้าหมาย

เป็นได้ก็ดี เพราะยังไม่มีคนไทยคนไหนที่เป็น แต่เป็นไม่ได้ก็ไม่ซีเรียส เพราะเป็นยูนิคอร์นมูลค่าบริษัทคือ 35,000 ล้านบาท แต่ถ้าเรามีมูลค่าบริษัทแค่ 20,000 ล้านบาท แต่มีพนักงาน 200 คนนี่ผมก็มีความสุขแล้ว เพราะรายจ่ายยังไงก็ไม่เกิน 100 ล้านบาท/เดือน ดังนั้นถ้ามีกำไรเป็นพันล้าน เราสามารถให้เงินพนักงานได้ ความสุขอยู่ตรงนี้มากกว่า เราได้เห็นพนักงานที่มีชีวิตดีขึ้น