เมื่อรถ Tesla ถูกกล่าวหา ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

Tesla
คอลัมน์ : เทคไทม์
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

เจ้าของ Tesla อาจถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่รู้ตัว หลังกด “ยินยอม” ให้บริษัทสามารถเข้าถึงรูปภาพและวิดีโอต่าง ๆ ที่กล้องหน้ารถบันทึกไว้

จากรายงานพิเศษของรอยเตอร์สที่สัมภาษณ์อดีตพนักงาน Tesla พบว่า รูปถ่ายส่วนตั๊ว ส่วนตัวของลูกค้า รวมถึงวิดีโอต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกไว้โดยกล้องหน้ารถ ถูกพนักงานดึงมาเล่นเป็น “มีม” ขำขันในห้องแชตอย่างสนุกสนาน โดยที่ลูกค้าไม่รู้เรื่องเลย

ภาพและคลิปที่ถูก “แชร์” กันในกลุ่มพนักงาน มีตั้งแต่คลิปชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในโรงจอดรถในสภาพเปลือยเปล่า ไปจนถึงกิจกรรมทางเพศของลูกค้า

ทั้งนี้ จากอดีตพนักงานกว่า 300 คนที่รอยเตอร์สติดต่อเพื่อทำรายงานชิ้นนี้ มีเพียง 12 คน ยอมให้สัมภาษณ์แบบไม่เปิดเผยชื่อ โดยพนักงานเหล่านี้เคยทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ self-driving ของบริษัทในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่านโยบายความเป็นส่วนตัวของ Tesla จะระบุว่า ภาพและคลิปที่ถูกบันทึกไว้จะถูกเก็บเป็นความลับ และไม่มีการเชื่อมโยงเพื่อแสดงตัวตนของลูกค้าเด็ดขาด

Advertisment

แต่พนักงาน 7 คนที่ให้คุยกับรอยเตอร์สเปิดเผยว่า โปรแกรมที่พนักงานใช้กันนั้นสามารถโชว์โลเกชั่นว่าภาพหรือคลิปเหล่านี้ถูกบันทึกที่ไหน ซึ่งสามารถใช้เชื่อมโยงไปยังที่อยู่ของลูกค้าได้ในที่สุด

ราว 3 ปีก่อน มีพนักงานบังเอิญเห็นรถของ เจมส์ บอนด์ “The Spy Who Loved Me” ในโรงจอดรถของบ้านหลังหนึ่ง สืบไปสืบมาก็พบว่า ลูกค้ารายนั้นไม่ใช่ใครอื่น หากแต่คือ อิลอน มัสต์ เจ้าของ Tesla นั่นเอง

จากข้อมูลพบว่า อิลอน ประมูลรถคันนี้มาในราคา 968,000 เหรียญ ในปี 2013 แต่ไม่แน่ใจว่า จะรู้รึยังว่า มีพนักงานแอบเข้าไปส่องดูโรงจอดรถของตัวเองได้โดยง่าย

แม้ว่ารอยเตอร์สจะไม่มีตัวอย่างคลิปหรือรูปภาพที่พนักงานแชร์กันภายใน และไม่สามารถยืนยันว่าพฤติกรรมการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ายังคงดำเนินต่อไปหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอน คือ ในการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วย AI ผู้พัฒนาจำเป็นต้องป้อนข้อมูลจำนวนมากเข้าสู่ระบบ เพื่อ “ฝึก” AI ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ขับรถแทนมนุษย์ในระบบ self-driving ซึ่งหมายความว่า โอกาสที่ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคอาจถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อตกลง เวลาไหน หรือเมื่อไหร่ก็ได้

Advertisment

ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา Tesla มีการจ้างพนักงานหลายร้อยคนในตำแหน่ง “data labelers” ที่ทำหน้าที่ใส่คำอธิบายภาพต่าง ๆ เพื่อป้อนเข้าระบบ AI เช่น ป้ายจราจร คนเดินเท้า ประตูโรงรถ เป็นต้น โดยพนักงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงวิดีโอและรูปถ่ายจากรถ Tesla หลายล้านคันทั่วโลก

แม้จะมีการยุบศูนย์ data-labeling ใน San Mateo ไปเมื่อปีก่อน แต่จากข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่ายังคงมี data labelers 675 คน ประจำอยู่ที่ในสำนักงานที่เมือง Buffalo

พนักงานที่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์สบางคนบอกว่า ไม่รู้สึกอะไรมากนักกับการแชร์รูปภาพต่าง ๆ ภายใน เพราะลูกค้าให้การยินยอมแล้ว แต่มี 3 คนที่มองว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว หนึ่งในนั้นถึงกับเอ่ยปากว่า ไม่มีวันซื้อ Tesla มาใช้เองแน่ ๆ

เดวิด โชฟเนส ผู้อำนวยการ สถาบัน Cybersecurity and Privacy Institute ของ Northeastern University เรียกพฤติกรรมการแชร์รูปและคลิปภายในกลุ่มพนักงานของ Tesla ว่าเป็นเรื่อง “ผิดศีลธรรม” และเข้าข่ายเป็นการละเมิดนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของบริษัทเอง ซึ่งอาจนำมาสู่การสอบสวนของ Federal Trade Commission หรือ คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง

แม้ลูกค้าจะต้องกดยินยอมก่อนบริษัทถึงจะนำรูปและคลิปไปใช้เพื่อปรับปรุงระบบ แต่ คาร์โล พิลตซ์ ทนายความด้าน data privacy จากเยอรมนี มองว่า การแชร์ข้อมูลดังกล่าวในกลุ่มพนักงานโดยไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยหรือพัฒนาระบบ ไม่น่าจะทำได้ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของยุโรป

ในขณะที่จีนเองก็มีรายงานว่า บางหน่วยงานของรัฐและพื้นที่อยู่อาศัยบางแห่งไม่อนุญาตให้มีการใช้ Tesla เพราะกลัวเรื่องถูกแอบถ่าย

ส่วนหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของเนเธอร์แลนด์ (Dutch Data Protection Authority) กังวลว่า การที่กล้องหน้ารถบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยรอบ อาจเป็นการละเมิดสิทธิของคนที่เดินผ่านไปมา หรือคนที่อยู่ในรัศมีการบันทึก และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของรถที่ต้องรับผิดชอบไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิของคนอื่น

ในสมัยที่ศูนย์ data-labeling ใน San Mateo ยังอยู่ พนักงานส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ จึงไม่แปลกที่จะชอบเอารูปหรือคลิปจากกล้องลูกค้ามาแต่งเป็นมีมตลก ๆ เพื่อแชร์ในห้องแชตภายใน บางคลิปก็ไม่มีพิษมีภัย เช่น คลิปหมาแมว แต่บางคลิปก็มีคอนเทนต์ที่น่าตกใจ เช่น มีการฉุดคนขึ้นรถ หรือ ขับรถชนเด็กที่กำลังขี่จักรยานอยู่จนกระเด็น โดยคลิปพวกนี้พนักงานจะใส่เอฟเฟ็กต์ “slow motion” พร้อมใส่แคปชั่นก่อนส่งต่อด้วย

แม้ว่าบริษัทจะมีการกำราบไม่ให้มีพฤติกรรมแบบนี้บนห้องแชตขององค์กร แต่พนักงานก็ยังแอบทำผ่านแชตส่วนตัว โดยอดีตพนักงานที่คุยกับรอยเตอร์สบอกว่า ที่เห็นล่าสุด คือ เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ไม่ยืนยันว่าตอนนี้ยังมีอยู่มั้ย

แต่ที่กลายเป็นโจ๊กภายใน คือ สมัยนั้น พนักงานที่ทำงานดีจะได้รถไปขับเล่นวันสองวันแต่ขับไปขับมาก็อาจต้องหวาดระแวงไปด้วยเพราะไม่แน่ใจว่ารูปลับหรือกิจกรรมส่วนตัวจะถูกเอามาล้อเป็นมีมภายหลังรึเปล่า และเริ่มไม่แน่ใจว่านี่เป็นการตบรางวัลหรือเป็นการลงโทษกันแน่