กรณีศึกษา “แอปเปิล-โกลด์แมน แซกส์” เมื่อบิ๊กเทค อยากเป็นธนาคาร

นับเป็นปรากฏการณ์เขย่าวงการธนาคารอีกระลอก เมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่จาก 2 วงการ “แอปเปิล”(Apple) และสถาบันการเงินดัง Goldman Sachs ร่วมมือกันเปิดบริการเงินฝากออกทรัพย์ให้ผลตอบแทนสูงกับผู้ที่ถือบัตร Apple Card กรณีนำเงินที่อยู่ในระบบเครดิตเงินคืนของบัตร Apple Card มาฝากไว้กับบัญชีออมทรัพย์ จะให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.15% ต่อปี

ไม่ใช่มีแค่แอปเปิล บิ๊กเทคอีกไม่น้อยที่ตบเท้าเข้าสู่แวดวงการเงิน แต่ด้วยระบบนิเวศที่ครบครันตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การมีเครือข่ายร้านค้าของตัวเอง ทำให้การขยับตัวของยักษ์ แอปเปิล ได้รับความสนใจอย่างมาก

ความสัมพันธ์ของ “บิ๊กเทค” และ “ธนาคารดั้งเดิม”

ทีมวิจัยจากธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ (บิ๊กเทค) และระบบการธนาคารแบบดั้งเดิม โดยศึกษาเริ่มจาก ข้อดีหรือจุดเด่นของบิ๊กเทคที่เหนือกว่าธนาคารแบบเดิม 2 ข้อ คือ 1.ข้อมูลที่ดีขึ้นเกี่ยวกับลูกค้าเพื่อทำเครดิต สกอริ่ง 2.การบังคับชำระคืนเครดิตที่ดีขึ้น เนื่องจากบิ๊กเทคคัดหรือตัดบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ออกจากระบบนิเวศของเขาได้

BIS กล่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ สามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับบริษัทที่ดำเนินการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือใช้ระบบชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด แม้ว่าข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทได้ แต่ก็อาจนำไปสู่ ​​”การครอบงำทางข้อมูล” หรือ data dominance

ตัวอย่าง การครอบงำทางข้อมูล ในกรณีของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คือ กรณีหากบริษัทผู้ขอกู้หรือขอใช้บริการเหล่านั้นผิดนัดชำระหนี้จาก บิ๊กเทค จะนำไปสู่การถูกกีดกันจากแหล่งเงินกู้ในอนาคต (เช่น กรณีการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแบบดั้งเดิม) รวมถึงนำไปสู่การปิดตัวหรือต้องออกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และบริการชำระเงินต่าง ๆ ด้วย

BIS ศึกษารูปแบบธุรกิจการให้กู้ยืมของ บิ๊กเทค โดยเปรียบเทียบกับกระบวนการตัวกลางของธนาคารแบบดั้งเดิม โดยธนาคารมีเงินฝากในอัตราที่ถูกกว่า แต่บิ๊กเทคสามารถทำข้อมูลลูกค้าที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้น และได้พัฒนาแบบจำลองทางทฤษฎีเพื่อศึกษาเศรษฐกิจที่บิ๊กเทคแข่งขันกับธนาคารแบบดั้งเดิม

โดยให้การกู้ยืมแก่บริษัทหรือนิติบุคคลที่ดำเนินการบนแพลตฟอร์มของตน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ข้อดีสองประการที่บิ๊กเทคมีในส่วนที่เกี่ยวกับธนาคาร ได้แก่ ข้อมูลลูกค้าที่ดีขึ้นในการทำเครดิตสกอริ่ง และการบังคับใช้การชำระคืนเครดิตที่ดีขึ้น เนื่องจากบิ๊กเทคสามารถลงโทษบริษัทที่ผิดนัดให้ออกจากระบบได้ ในส่วนของธนาคารดั้งเดิมมีรูปแบบการระดมทุนที่หลากหลายและถูกกว่า

บิ๊กเทคและธนาคารต้องแลกเปลี่ยนกัน

ผลการศึกษาพบว่าเมื่อธนาคารและบิ๊กเทคแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงผู้กู้ “บิ๊กเทค” มีแรงจูงใจที่จะเก็บข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับกฎระเบียบและการแทรกแซงมากมาย และหากจำกัดความสามารถในการเก็บข้อมูลเอกชนมากเกินไป อาจเพิ่มจำนวนการผิดนัดชำระจากการคำนวนเครดิตผู้กู้ที่ผิดพลาด ซึ่งส่งผลให้บิ๊กเทคมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในบริการทางการเงิน ทั้งลดการลงทุนในโอกาสที่มีการสร้างผลกำไร

ในขณะที่ธนาคารแบบดั้งเดิมมีความแข็งแกร่งด้านการเงินจากเงินฝากที่มีต้นทุนราคาถูกและมีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย

วิธีหนึ่งในการลดความไร้ประสิทธิภาพเหล่านี้ คือให้ บิ๊กเทค และธนาคารให้ความสำคัญกับข้อได้เปรียบของแต่ละฝ่าย กล่าวคือ “บิ๊กเทค” แบ่งปันข้อมูลที่ประมวลผลแล้ว (แทนที่จะเป็นเพียงข้อมูลดิบ) กับธนาคาร ในขณะที่ธนาคารประเภทหลังจัดหาเงินกู้โดยใช้แหล่งที่ถูกกว่าและกว้างขวางกว่าบิ๊กเทค

กรณีศึกษา Facebook กับระบบ Diem

ยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์ก “เฟซบุ๊ก”(Facebook) เป็นบิ๊กเทคที่อยากเป็นธนาคารอย่างเห็นได้ชัด โดย 3-4 ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กพยายามอย่างมากที่จะสร้างระบบนิเวศการชำระเงิน รวมถึงการสร้างสกุลเงินที่เป็นสื่อกลางการค้าขายบนระบบนิเวศของตน อย่างเงิน Libra เงินดิจิทัลที่ตรึงค่ากับเงินหลายสกุล โดยสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลบนแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Calibra

เป้าหมายคือคนทั่วโลกที่ใช้งานเฟซบุ๊ก สามารถซื้อขายสินค้า โฆษณา รวมถึงบริการทางการเงินแบบอื่น ๆ ที่จะเกิดตามมาเมื่อมีข้อมูลการธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น

แต่เฟซบุ๊กก็ประสบปัญหากับระเบียบ และข้อกฎหมาย ทำให้ต้องพับโครงการ Libra แล้วเริ่มสร้างกระเป๋าใหม่ คือ Novi ซึ่งมีสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ชื่อ Diem ที่ตรึงค่ากับดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว โดยมีธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Silvergate Bank (เพิ่งล้มละลายไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) เป็นผู้ดำเนินการสำรองเงินดอลลาร์ควบคู่กับออกเหรียญ Diem

รวมถึงทั้งมีการสร้างบริษัทย่อย Diem Network US เพื่อเป็นผู้ดำเนินการเครือข่าย Diem Payment Network (DPN) มีหน้าที่ในการดูแลอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมของ Facebook Diem แต่สุดท้ายทางการสหรัฐ ไม่อนุญาตให้ Silvergate ออกเหรียญดิจิทัลและนำไปสู่การปิดโครงการ Diem

การดำเนินการดังกล่าวของ Facebook คือการเปลี่ยนผู้ใช้ 2,400 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ หากใช้ระบบเงินเดียวกัน ย่อมกระทบต่อระบบธนาคาร และอธิปไตยทางการเงินของหลายประเทศในโลก แม้จะยังไม่นำไปสู่การสร้างระบบธนาคารที่มีการให้สินเชื่อหรือฝากเงินก็ตาม

ด้วยระบบนิเวศทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์ม Facebook หรือ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ทำให้หลายส่วนเห็นว่าควรมีการจัดระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อขยายผลไปสู่การดำเนินธุรกิจด้านการเงินอื่น ๆ แก้ผู้ใช้งานมหาศาลบนแพลตฟอร์ม

กรณีศึกษา Apple Wallet กับระบบการให้สินเชื่อ

ในช่วงที่เฟซบุ๊ก เปลี่ยนเป็น Meta และล้มแผนพัฒนาระบบชำระเงินของตัวเองไป “บิ๊กเทค” หลายรายเริ่มขยับพัฒนาไปอีกขั้นสู่ การสร้างกระเป๋าเงิน หรือ “Wallet” ขึ้นมาเป็นศูนย์รวมข้อมูลการชำระเงินบนระบบนิเวศของตนและพันธมิตร เช่น ลาซาด้า, ช้อปปี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เห็นได้ชัดว่ามีระบบนิเวศการค้าขายชัดเจน หรือแม้แต่แอปเปิล

ในช่วงเริ่มต้นระบบ Wallet เป็นตัวเชื่อมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินในโลกจริงเพื่อดึงเงินจริง ๆ เข้าสู่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นผู้โอนเงินเข้ามาสามารถชำระซื้อ-ขายบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องโอนหลายรอบ ทำให้เงินมากองอยู่ในระบบของแพลตฟอร์มนั้น ๆ

ข้อมูลการใช้จ่ายบน Wallet ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มสามารถนำไปพัฒนาระบบสกอริ่งได้ในเวลาต่อมา ซึ่งในที่สุดแล้วบริการทางการเงินที่พร้อมเกิดเมื่อเทคโนโลยีพร้อม ระบบนิเวศพร้อม และข้อมูลพร้อม นำไปสู่บริการ Buy Now, Pay Later (ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง)

แอปเปิล ประกาศทำระบบ Buy Now, Pay Later ต้นปี 2565 ซึ่งยังใช้งานไม่ได้ในขณะนี้ เพราะระบบนี้รองรับระบบปฏิบัติการ iOS 16 ซึ่งประกาศอัพเดตพร้อม ๆ กับอุปกรณ์ใหม่อย่างไอโฟน 14 ในปลายปี

อย่างไรก็ตาม แอปเปิลไม่ได้พัฒนาระบบการชำระเงินขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ร่วมมือกับธนาคารยักษ์ โกลด์แมน แซกส์ สำหรับบัตรเครดิต Apple Card มาตั้งแต่ปี 2562 จึงมีพื้นฐานและแหล่งเงินอยู่ก่อน ทั้งมีอุปกรณ์ ผู้ใช้งาน พื้นฐานหน้าร้าน รวมถึงร้านค้าออนไลน์ App Store ทำให้ Apple มีระบบนิเวศที่เพียบพร้อมในการใช้งานการชำระเงินแบบดิจิทัล

ล่าสุดเข้าใกล้ความเป็นธนาคารมากขึ้น ให้ผู้ใช้ฟีเจอร์ Apple Card และ Apple Wallet ใช้บริการทางการเงินของโกลด์แมน แซกส์ โดยสามารถเปิดบัญชี “ออมทรัพย์ เพื่อ “ฝากเงิน” กับโกลด์แมน แซกส์ ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 4.15% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่กำหนดยอดเงินฝากขั้นต่ำ และไม่กำหนดขั้นต่ำของยอดเงินคงเหลือในบัญชี

เดิมพันครั้งใหญ่ของ Apple

สำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” วิเคราะห์ว่า แอปเปิล และ โกลด์แมน แซกส์ กำลังร่วมมือกันพัฒนาแผนการชำระเงินระยะยาว เพื่อรองรับปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการขยายบริการ Apple Pay Later ระยะสั้นที่ล่าช้ากว่าที่คาด

ความเคลื่อนไหวด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินครั้งนี้ เป็นหนึ่งในเดิมพันครั้งใหญ่ของ “แอปเปิล” ที่มองว่าข้อเสนอหรือบริการทางการเงินจะช่วยกระตุ้นการเติบโตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะมีส่วนสนับสนุนให้รายได้ของแอปเปิลให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%

หากเทียบกรณีศึกษาของ BIS จะพบว่า บิ๊กเทค อย่าง แอปเปิล และธนาคารดั้งเดิมอย่างโกลด์แมน แซกส์  ให้ความสำคัญกับข้อได้เปรียบของแต่ละฝ่าย คือ “แอปเปิล” แบ่งปันข้อมูลที่ประมวลผลแล้วกับธนาคาร

ไม่ว่าจะเป็นฐานผู้ใช้งานบนอุปกรณ์ของแอปเปิล ข้อมูลการซื้อขายที่เกิดทั้งบนหน้าร้าน Apple Store หรือซื้ออุปกรณ์ภายในเว็บไซต์แบบออนไลน์ หรือการซื้อขายซอฟต์แวร์บน App Store รวมถึงธุรกรรมที่เกิดกับพาร์ตเนอร์ที่ใช้จ่ายได้ด้วย Apple Card ผ่าน Apple Pay กับ Apple ได้แก่ Uber และ Uber Eats, Walgreens, Nike, Panera Bread, T-Mobile, ExxonMobil และ Ace Hardware

ขณะเดียวกัน ธนาคารก็สามารถจัดหาเงินกู้โดยใช้แหล่งที่ถูกกว่าและกว้างขวางกว่าให้บิ๊กเทคได้

“บลูมเบิร์ก” ระบุด้วยว่า โกลด์แมน แซกส์ มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มเงินฝากของผู้บริโภค จากฐานผู้ใช้ของแอปเปิล และด้วยผลิตภัณฑ์บัญชีออมทรัพย์ที่มีอยู่แล้วของบริษัท มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ทางการจากความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนเสริมของธุรกิจธุรกรรมธนาคารของโกลด์แมน ซึ่งรับเงินฝากของบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งนั่นจะเป็นแหล่งเงินทุนราคาถูกอีกแหล่งหนึ่งของโกลด์แมน

จับตาการบังคับชำระหนี้

ในส่วนของแผน Apple Pay Later ซึ่งถือเป็นบริการทางการเงินระยะสั้น ตามที่บลูมเบิร์กระบุ ก็เริ่มให้บริการในสหรัฐอเมริกาแล้ว บริการนี้ดูแลโดย Apple Financing LLC มีหน้าที่รับผิดชอบในการประเมินเครดิตและการให้กู้ยืม

โดยผู้ใช้บริการ Apple Pay Later สามารถแบ่งจ่ายสินค้าเป็น 4 งวด ไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยไม่มีดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ซึ่งตัวฟีเจอร์นี้ครอบคลุมการจ่ายผ่าน Apple Pay และ Apple Wallet มีขั้นต่ำตั้งแต่ 50-1,000 เหรียญสหรัฐ โดยสามารถใช้บริการได้บน iPhone และ iPad กับร้านค้าที่รองรับ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่า หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ มีการบังคับชำระคืนอย่างไร เพราะการบังคับใช้เครดิต โดยการลงโทษและกีดกันให้ออกจากระบบนิเวศถือว่าเป็น จุดเด่น ของ “บิ๊กเทค” ในการให้บริการทางการเงินตามที่ BIS ได้ศึกษาไว้

ประเด็นนี้ยังต้องจับตาต่อไป