รวมพลคนแฮกเกอร์ เจาะ ChatGPT

ChatGPT
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ไหน ๆ ก็โดนตรวจสอบจากทุกทิศทางอยู่แล้ว เจ้าของ ChatGPT เลยตัดสินใจร่วมจัดมหกรรมใหญ่ระดมแฮกเกอร์หลายพันคนให้มาแฮกระบบของตัวเองเสียเลย จะได้รู้ว่ามีจุดอ่อนอยู่ตรงไหน เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

งาน “แฮกกาธอน” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงาน DEF CON ที่คาดว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญด้าน IT securities และแฮกเกอร์เข้าร่วมกันคับคั่ง

งาน DEF CON จัดขึ้นทุกปีในลาสเวกัส เพื่อเป็นเวทีให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนความรู้และโชว์เทคนิคการโจมตีใหม่ ๆ โดยโฟกัสของปีนี้จะอยู่ที่การแฮก generative AI ที่ใช้ large language models (LLM) อย่าง ChatGPT ของ Open AI และเจ้าอื่น เช่น Anthropic Google Hugging Face Nvidia และ Stability

นอกจาก Open AI แล้ว Google และ Microsoft ยังรับบทสปอนเซอร์ของงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อหาทางพัฒนาระบบ AI ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

โจทย์ปีนี้จะเน้นไปที่ความกังวลของสังคมที่มีต่อแชตบอต AI ด้านต่าง ๆ เช่น แชตบอตสามารถถูกปั่นหัวให้ก่อความเสียหายได้หรือไม่ หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวของเราให้คนอื่นรู้หรือไม่ และมี gender bias หรือไม่ เช่น ทำไมถึงชอบทึกทักว่าหมอต้องเป็นผู้ชาย และพยาบาลต้องเป็นผู้หญิงด้วย

ใครที่เคยใช้ ChatGPT หรือ Bing ของ Microsoft และ Bard ของ Google คงเห็นแล้วว่า แชตบอต มีความสามารถด้นสดข้อมูลแบบจับแพะชนแกะ ที่น่ากลัวคือ คำตอบจะออกมาดูน่าเชื่อถือสุด ๆ หากผู้ตามไม่ทันก็อาจหลงเชื่อได้ง่าย และหากมีการแชร์ข้อมูลนั้นไปในวงกว้าง ก็อาจ
ก่อให้เกิดเฟกนิวส์ตามมา

ที่สำคัญ AI ถูกเทรนด้วยข้อมูลมหาศาลบนโลกออนไลน์ จึงมักแสดงออกถึงอคติของสังคมที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจากเพศสภาพ สีผิว ชนชั้น ความเชื่อ และศาสนาด้วย

รัมแมน โชวด์ฮิวรี อดีตหัวหน้าทีมจริยธรรมของ Twitter และผู้ประสานงานหลักของ DEF CON บอกว่าจะป้องกันไม่ให้แชตบอตเหล่านี้สร้างความแตกแยกและความเสียหายอื่น ๆ เราจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแฮกเพื่อจะได้เห็นถึงต้นตอและหาทางแก้ไขอย่างถูกต้องต่อไป

ไอเดียการจัด “แฮกกาธอน” ได้รับความสนใจจากรัฐบาล หลังจาก ออสติน คาร์สัน ประธาน Seed AI เอ็นจีโอที่ผลักดันการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ จัดเวิร์กช็อปให้นักศึกษามหาวิทยาลัยช่วยกันแฮก AI โมเดลหนึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คาร์สันบอกว่างานเวิร์กช็อปครั้งนั้นนำไปสู่ข้อเสนอต่อรัฐบาลให้มีการทดสอบ AI เพื่อกำจัดอคติ เพิ่มการคุ้มครองข้อมูล และทำให้ระบบมีความปลอดภัยและโปร่งใส

แม้ว่าตอนนี้ผู้ให้บริการหลายเจ้าจะมีทีมแฮกเฉพาะกิจเพื่อทดสอบระบบตัวเองอยู่แล้ว อีกทั้งผู้ใช้งานทั่วไปก็ช่วยกันในการแชร์ข้อผิดพลาดที่พบระหว่างใช้งาน แต่การทดสอบเหล่านี้ยังขาดความเป็นเอกภาพและทำให้บางเรื่องกลายเป็นแค่ไวรัล แต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น มีผู้ใช้งานหลอกล่อให้แชตบอตบอกวิธีทำระเบิด โดยให้ทำเหมือนเป็นนิทานก่อนนอนที่คุณย่าคนหนึ่งกำลังเล่าให้หลานฟังเรื่องนี้เรียกเสียงฮือฮาในโลกออนไลน์ แต่ไม่รู้ว่ามีการหาทางแก้ไขอย่างไรหรือไม่

รัมแมนบอกว่า การจ้างแฮกเกอร์มาช่วยหาบั๊กเป็นเรื่องปกติในแวดวง cybersecurity ซึ่งงาน DEF CON ก็จะใช้หลักการเดียวกันนี้ในการเจาะระบบ AI และรวบรวมผลลัพธ์ที่ได้และเสนอข้อคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

แม้จะมีคำเตือนถึงผลกระทบและความเสี่ยงต่าง ๆ จากการใช้ generative AI โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างและเผยแพร่เฟกนิวส์ แต่บิ๊กเทคยังคงเดินหน้านำเสนอบริการกันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพี่เบิ้มอย่าง Google และ Microsoft ที่แข่งกันชิงความเป็นผู้นำมาตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา

ล่าสุดทั้งสองบริษัทก็แข่งกันผนวกแชตบอตเข้าไปใน search engine ของตัวเอง โดย Microsoft เปิดตัว Bing Chat ให้ผู้ใช้งานทั่วไปใช้ได้แล้วหลังจำกัดกลุ่มผู้ใช้ในช่วงแรก โดย Bing Chat (ใช้ระบบหลังบ้านตัวเดียวกับ ChatGPT) จะช่วยให้ผู้ใช้งาน Bing (search engine ของ Microsoft) ค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ Google ก็ประกาศจะเพิ่ม AI chat ใน search engine ของตนเองด้วยและมีแผนเปิดให้ผู้ใช้งานใน 120 ประเทศ 40 ภาษาใช้ Bard แชตบอตของบริษัทเร็ว ๆ นี้ด้วย

การแข่งขันที่ดุเดือดย่อมหมายถึงโอกาสที่เราจะเห็นการใช้ generative AI ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งหากมองในแง่ดี ก็คือเราจะมีผู้ช่วยที่ทำให้งานหลายอย่างง่ายขึ้น แต่หากผู้ช่วยเอาความลับเราไปเผยแพร่ หรือเต้าข่าวมาปั่นหัวให้เราหลงเชื่อ ก็น่าปวดหัว เลยหวังว่าน่าจะมีงานแฮกกาธอนเกิดขึ้นเยอะ ๆ จะได้ช่วยมองหาจุดอ่อนของระบบและหาทางป้องกัน ก่อนที่ AI จะมีบทบาทในชีวิตเรามากกว่านี้