ChatGPT สร้างแบรนด์ยั่งยืนอย่างไร ?

OpenAI
คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์

ChatGPT เป็นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ถูกสร้างขึ้นโดย OpenAI ที่เปิดตัวขึ้นเมื่อพฤศจิกายน 2022 และประสบความสำเร็จมาก โดย ChatGPT มีวิวัฒนาการมาจาก GPT3.5 และ GPT4 ในตระกูล LLM (Large Language Models) เพื่อให้ฉลาดขึ้นด้วยการถ่ายโอนการเรียนรู้ สามารถให้คำแนะนำก็ได้ รวมทั้งสามารถใช้เทคนิคการเพิ่มพูนการเรียนรู้ รวมถึงสามารถตอบสนองด้วยการให้ข้อมูลที่มีรายละเอียด และสร้างสรรค์คำตอบผ่านโดเมนความรู้จากหลากหลายสาขา

อย่างไรก็ตาม สำหรับวิศวกร OpenAI แล้ว พวกเขาไม่คาดคิดว่า ChatGPT จะประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจมากถึงขนาดนี้ เพราะในความเป็นจริงยังมีข้อกังวลบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องของความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล

หากไม่มองในแง่ความสมบูรณ์แบบ ในฝั่งปฏิบัติการขององค์กรธุรกิจ ปัจจุบันเริ่มมีการนำ ChatGPT มาใช้ในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อนกลยุทธ์ความยั่งยืน และการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนให้องค์กร โดยนักสร้างแบรนด์และคนทำงานด้านความยั่งยืนในองค์กรได้ใช้ความโดดเด่นของ ChatGPT มาช่วยแบรนด์ ตั้งแต่การตัดสินใจจากข้อมูลได้อย่างถูกต้องในการลดปริมาณขยะ ปรับปรุงระบบปฏิบัติการ เรื่อยไปจนถึงขั้นสามารถยกระดับความสามารถในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ เป็นต้น

บทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ และความเคลื่อนไหวของแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกเพื่อพยายามจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดขึ้นว่า ChatGPT ทำอะไรให้แบรนด์ยั่งยืนได้บ้าง ?

– ใช้ในการปฏิวัติพัฒนาสินค้า ChatGPT ช่วยให้แบรนด์สามารถกำหนดระดับของการทำให้เกิดความเฉพาะตัวตอบความต้องการเฉพาะบุคคลได้ดีขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค และเทรนด์การตลาด โปรแกรมนี้ยังสามารถระบุประเภทของสินค้าที่ตอบโจทย์ และความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญสูงสุดได้ด้วย ChatGPT ทำให้แบรนด์สามารถออกแบบสินค้าที่ตอบความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ในช่วงสุดท้ายที่ต้องการทิ้งสินค้าที่ใช้เรียบร้อย

การใช้ข้อมูลเช่นนี้จะทำให้แบรนด์เหนือว่าคู่แข่งในกรณีที่ต้องการทำการพัฒนาสินค้าในอัตราเร่ง โดยสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดได้อย่างดี

– ช่วยเพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เนื่องจากโลกทุกวันนี้ ผู้บริโภคคาดหวังสูงมากขึ้นในเรื่องของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ChatGPT มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล เช่น สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ใบรับรอง เอกสารการตรวจสอบภายใน ซึ่งเหล่านี้สามารถระบุได้ถึงความเสี่ยง อีกทั้งยังให้คำแนะนำในการแก้ไขจัดการความเสี่ยงนั้น ๆ

แนวทางดังกล่าวช่วยให้แบรนด์มั่นใจได้ในกระบวนการตรวจสอบ และสร้างความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่ โดยยกระดับความโปร่งใส และการสร้างความเชื่อมั่นที่ลูกค้าจะมีต่อแบรนด์ อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำจุดยืนในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนของแบรนด์

– ใช้ในการกำจัดและลดปริมาณขยะ เนื่องจากการลดปริมาณขยะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสู่ความยั่งยืน และเป็นหนึ่งในประเด็นที่บริษัทต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ การวิเคราะห์ที่ดีกว่า เร็วกว่า จะช่วยให้แบรนด์ลดขยะในการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การใช้ ChatGPT ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ระดับสินค้าคงคลัง และความต้องการของลูกค้า ซึ่งแบรนด์สามารถลดขยะและลดการปล่อยคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจกได้ ก็จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพไปในตัว

การใช้ ChatGPT ยังสามารถทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่แบรนด์จะสามารถกำหนดแผนการกำจัดขยะอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยการแสดงให้เห็นถึงการลงมือปฏิบัติจริงในการสร้างความยั่งยืน

– สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าด้วยการให้คำแนะนำแบบพิเศษเฉพาะบุคคล ท่ามกลางการแข่งขันสูงในตลาด แบรนด์จำเป็นต้องให้คำแนะนำแบบพิเศษ และเฉพาะบุคคลเพื่อให้โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งคนอื่น ChatGPT ช่วยให้แบรนด์สามารถนำเสนอสินค้า และคำแนะนำที่เหมาะกับแต่ละบุคคลได้ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ประวัติการซื้อสินค้า ความชอบ และคำติชมจากลูกค้า

การสร้างความเฉพาะบุคคลดังกล่าวจะช่วยสร้างและรักษาความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ ผ่านการสะท้อนให้เห็นถึงการให้คุณค่ากับเรื่องของความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการมีคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้น ๆ

– ช่วยลด และบริหารจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สำหรับการบริหารจัดการเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯของแบรนด์ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ChatGPT สามารถช่วยให้แบรนด์บรรลุเป้าหมายเรื่องนี้ โดยการระบุถึงส่วนที่จะสามารถลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

โดยวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงาน โปรแกรมจะสามารถแนะนำวิธีการในการลดการสูญเสียพลังงาน และใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะช่วยในการบริหารจัดการคาร์บอนฟุตพรินต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ด้วย

– สามารถจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนแบบอัตโนมัติได้ ChatGPT ยังสามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำการรายงานด้านความยั่งยืนแบบอัตโนมัติ ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งลูกค้า นักลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแล ได้รับทราบข้อมูล โดยกระบวนการของ ChatGPT จะสามารถวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาลจากข้อมูล เพื่อนำมากำหนดแนวทางการปรับปรุง รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ได้ แม้ว่าปัจจุบันความแม่นยำของข้อมูลจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับอนาคต ChatGPT จะเป็นตัวช่วยอย่างมากในเรื่องนี้

กล่าวกันว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่นักสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนมีโอกาส และมีพลังอำนาจในการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นำประสบการณ์ และองค์ความรู้มาสนองตอบความท้าทายที่ซับซ้อน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง ChatGPT ในการปรับตัวเพื่อรองรับอนาคตของคนทำงานในสายอาชีพนี้

ขณะเดียวกันยังเป็นการป้อนกลับสิ่งที่เราจะช่วยขับเคลื่อนภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพและศักยภาพในการประเมินสถานการณ์ ปรับฉากทัศน์ แสดงวิสัยทัศน์ ส่งต่อพันธะสัญญา และทำให้แน่ใจว่า…เราอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในวันนี้ แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของทางออกสำหรับวันพรุ่งนี้ได้เช่นกัน

หมายเหตุ – เรียบเรียงจาก ChatGPT and Environmental Science: Improving Sustainability (aicontentfy.com),How ChatGPT Can Help Propel Brand Sustainability Strategies – Sustainable Brands,Will ChatGPT write our future ESG reports | News | Eco-Business | Asia Pacific