อนาคต FemTech เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ

FemTech
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ไม่ว่าจะเรียกมันว่า “การเหยียด” หรือ “การขาดความรู้ที่เพียงพอ” ก็ตาม ความจริงที่กำลังตบหน้าวงการเทคในขณะนี้คือ เทคโนโลยีสำหรับผู้หญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติเหมือนเป็น “พลเมืองชั้นสอง” กำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านเหรียญในเร็ว ๆ นี้

FemTech คือ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมของผู้หญิง ซึ่งครอบคลุมสินค้าและบริการในทุกช่วงวัยและในเกือบทุกมิติสุขภาพ โดย FemTech focus คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่าราว 1.189 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2027

FemTech focus ประเมินตัวเลขนี้จากสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นเพื่อช่วยลดอาการทางสุขภาพของผู้หญิง 97 อาการ ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาวัยทอง กระดูก สมอง หัวใจ การวางแผนครอบครัว อัลไซเมอร์ เอชไอวี ไปจนถึงการทำแท้ง

แม้ FemTech จะพัฒนานวัตกรรมที่น่าทึ่งออกมามากมาย และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการนี้ต้องดิ้นรนมากกว่าเทค สตาร์ตอัพสาขาอื่นอย่าง รถไฟฟ้า พลังงาน หรือ AI

ข้อมูลของ Rock Health ระบุว่าเม็ดเงินลงทุนใน FemTech ของอเมริการะหว่างปี 2011-2020 ยังอยู่แค่ 3.3% ของเงินลงทุนทั้งหมดในอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้ง ๆ ที่ประชากรโลกประกอบไปด้วยผู้หญิงเกินกว่าครึ่ง ซึ่งหมายถึง “ตลาด” ที่ใหญ่มาก

หากพิจารณาจากรายงานของ Women’s Health Access Matters ที่ประเมินว่า ทุกการลงทุน 300 ล้านเหรียญใน FemTech จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้เติบโตขึ้นได้ถึง 1.3 หมื่นล้านเหรียญ ก็น่าสงสัยว่า ทำไมนักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายถึงมองข้ามโอกาสทางธุรกิจขนาดมหึมานี้ไปได้

บางทีคำตอบอาจมาจากปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้เรื่องสุขภาพผู้หญิง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและการสืบพันธุ์เป็นเรื่องที่ต้องกระซิบกระซาบในที่รโหฐาน

หรืออาจเป็นเพราะการขาดความรู้ของผู้กำหนดนโยบายที่ส่วนมากเป็นผู้ชาย เลยทำให้ปัญหาสุขภาพผู้หญิงเป็นเรื่องไม่สำคัญ และบ่อยครั้งถูกทำให้เป็นเรื่องตลกหยาบโลน

เพราะจากรายงานประจำปี 2022 ของ European Women in VC พบว่าพาร์ตเนอร์ของ VC กว่า 75% เป็นผู้ชาย

ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ VC ส่วนมากมีความเข้าใจเกี่ยวกับสรีระและสุขภาพผู้หญิงจำกัด

ทานย่า โบเลอร์ ผู้ก่อตั้ง Elvie ผู้ผลิตสินค้าสำหรับคุณแม่มือใหม่ เล่าให้ CNBC ฟังว่า ตอนเธอนำเสนอสินค้าของบริษัท ได้แก่ อุปกรณ์แบบสอดเพื่อออกกำลังกายอุ้งเชิงกรานสำหรับผู้หญิงหลังคลอดและที่ปั๊มนมไฟฟ้าแบบพกพา ทุกคนมองว่ามันเป็นเรื่องน่าขำ ซึ่งน่าจะมาจากการขาดความรู้จนทำให้มองไม่เห็นความต้องการในตลาด

แต่เธอไม่ถอดใจและเดินหน้าต่อ เพราะเชื่อในโอกาสเติบโต จนสามารถนำพาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

จากสตาร์ตอัพโนเนมในปี 2013 วันนี้ Elvie ยืนหนึ่งในฐานะ FemTech สตาร์ตอัพเบอร์ต้น ๆ ด้วยรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญ และมีแคมเปญในการท้าทายความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับร่างกายผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาพนักวิ่งมาราธอนหญิงที่สามารถปั๊มนมให้ลูกระหว่างแข่งขันโดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หรือภาพผู้หญิงที่รู้สึกมั่นใจในสรีระของตัวเองในการใช้อุปกรณ์แบบสอดเพื่อสุขภาพที่ดีของอุ้งเชิงกราน

อย่างไรก็ตาม คาเรน เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการ The Centre for Health Solutions ของ Deloitte คิดว่าผู้ก่อตั้งหญิงก็มีส่วนทำให้ตัวเองได้เงินสนับสนุนน้อยกว่าผู้ชายด้วย เพราะมักจะเรียกเงินลงทุนน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจมาจากความซื่อสัตย์ หรือการมองอนาคตกิจการแบบ “ถ่อมตัว” ไปหน่อย

ซึ่งต่างกับผู้ก่อตั้งชายที่ขายวิชั่นอย่างมั่นใจและกล้าตั้งตัวเลขเงินลงทุนแบบไม่มีเขียม

ในขณะที่ บริตทานี บาร์เรตโต หนึ่งในผู้ก่อตั้งหญิงและเจ้าของ FemTech อย่าง FemHealth Insights มองว่าอาวุธที่เจ้าของสตาร์ตอัพผู้หญิงสามารถใช้ในการโน้มน้าว หรือเอาชนะอคติของนักลงทุนคือข้อมูลและตัวเลข

และเธอเชื่อว่า FemTech กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยอ้างอิงตัวเลขงานวิจัยของ FemHealth Insights ที่พบว่า 60% ของ FemTech สตาร์ตอัพมีการก่อตั้งขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง และมีการเติบโตกว่า 1,000% ในรอบ 10 ปี

อนาคตของ FemTech จะสดใสเหมือนที่บริตทานีวาดหวังไว้หรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ตราบที่ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ ผู้หญิงก็คงต้องกัดฟันสู้กันต่อไปอย่างที่ทำมาตลอด