มิจฉาชีพเหนื่อย ทรู มันนี่ ตั้งระบบป้องกันดูดเงิน 3 ชั้น

ทรูมันนี่ ให้สแกนหน้ายืนยันตัวตน

ทรูมันนี่ เผย ยอดธุรกรรมหมุนเวียนรายปี 5 แสนล้านบาท พร้อมยกระดับการปกป้องบัญชีลูกค้า ด้วยระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ตรวจ-จับ-หยุด ธุรกรรมแปลกปลอม พร้อมลุย “เวอร์ชวลแบงก์”

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันทรูมันนี่ มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นและจะเป็น 35 ล้านคนในปีนี้ โดยธุรกรรมหมุนเวียนตลอดปีมีอยู่ราว 5 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลูกค้าเลือกทรูมันนี่เป็นช่องทางการชำระเงิน

นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการมอบบริการทางการเงินที่ใช้งานง่ายและช่วยเพิ่มคุณค่าในการใช้งานให้กับผู้ใช้ทรูมันนี่ ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มอบความปลอดภัย ให้ความมั่นใจกับผู้ใช้ในทุกการใช้งาน ระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น “TrueMoney 3 x Protection” ที่พัฒนาโดยบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ร่วมกับผู้ให้บริการระบบความปลอดภัยชั้นนำของโลก ได้แก่ “ชิลด์” (SHIELD) ซึ่งเป็นบริษัทดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก และ “โซลอส” (ZOLOZ) ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชั่นและเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนแบบ Biometric ระดับโลก

ทั้งนี้ ระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น “TrueMoney 3 x Protection” ได้นำความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) มาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (ฺBig Data Engineering) เพื่อรวบรวม จำแนก และจดจำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ พร้อมตรวจจับและสั่งการหากมีอะไรผิดปกติ และให้การปกป้องบัญชีผู้ใช้ถึง 3 ชั้น ได้แก่

ชั้นที่ 1 – ตรวจ – ว่าเป็นคุณตัวจริงที่เข้าใช้งานบัญชี

ตรวจ เพื่อยืนยันเข้าใช้งานบัญชีด้วยระบบยืนยันตัวตนหลากหลายรูปแบบ (secure log in) เช่น การเรียกสแกนหน้าเพื่อตรวจสอบข้อมูลชีวมิติ (Biometric-Face recognition) ถึงมีมิจฉาชีพที่ล่อลวงจนรู้ OTP หรือ Pin Code แต่ก็ไม่สามารถล็อกอินบัญชีคุณได้ เพราะถูกระบบสแกนตรวจใบหน้าป้องกันไว้

และตัวระบบ Biometric สามารถจำแนกว่าเป็นมนุษย์ด้วยการทดสอบการกระพริบตาหรือการเอียงใบหน้า สามารถแยกภาพถ่าย วิดีโอ หรือหุ่นยนต์

นอกจากนี้ ระบบ “TrueMoney 3 x Protection” ยังสามารถตรวจจับค่า IP address หรือ Location หากมีการเข้าใช้งานจากอุปกรณ์ใช้งาน (secure device) ที่แตกต่างไปจากที่ผู้ใช้เจ้าของบัญชีได้ลงทะเบียนหรือใช้งาน

ระบบจะมีข้อมูลที่สามารถแยกแยะพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้ หากปกติแล้วผู้ใช้งานใช้ iPhone14 แต่วันหนึ่งเปลี่ยนมาใช้ Samsung เพื่อเข้าระบบทรูมันนี่ ระบบจะปกป้องโดยการให้สแกนใบหน้า
หรือหากมีการพยายามใช้มือถือรุ่นเดียวกัน ก็ยังสามารถตรวจจับผ่าน IP หรือพฤติกรรมแปลกอื่น ๆ ได้ เช่น ปกติผู้ใช้ไม่เคยโอนเงินออกจากแอปเกินร้อย แต่วันหนึ่งโอน 1 แสนบาท ย่อมเป็นพฤติการณ์ผิดปกติ

ชั้นที่ 2 – จับ – มัลแวร์หรือแอปต้องสงสัย

จับ มัลแวร์ แอปดูดเงิน และแอปแปลกปลอมที่ไม่ปลอดภัย หากติดตั้งบนอุปกรณ์ที่ใช้งานทรูมันนี่ และปฏิเสธการอนุญาตเข้าใช้งาน

กรณีที่อุปกรณ์ที่ทรูมันนี่จดจำไอพีได้แล้ว โดยควบคุมหน้าจอหรือระบบอื่น ๆ ผ่านมัลแวร์ ก็จะมีการตรวจจับและไม่ให้เข้าระบบ

ชั้นที่ 3 – หยุด – การทำธุรกรรมที่ผิดปกติ

หยุด หากมีการทำรายการที่ผิดปกติ ระบบ AI จะจำแนกและกำหนดค่าความเสี่ยง (Risk score) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติจากประวัติการทำรายการย้อนหลัง และให้ลูกค้าทำการยืนยันตัวตนหลากหลายรูปแบบ หรือหยุดยั้งรายการที่มีความผิดปกติ เพื่อป้องกันการถูกดูดเงินออก

ดังเช่นกรณีที่ยกตัวอย่างไปว่า หากผู้ใช้ไม่เคยมีพฤติกรรมโอนเงินจำนวนมาก หรือไม่เคยโอนเงินถี่ ๆ ระบบจะตรวจจับความผิดปกติเหล่านี้ได้

จากข้อมูลล่าสุดเดือน เมษายน 2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ระบุว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาภัยออนไลน์แจ้งมายังเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 247,753 เรื่อง ขณะที่ผลการอายัดบัญชีที่มีคำร้องทั้งหมด 74,129 บัญชี มีการขออายัด 54,017 บัญชี ยอดเงิน 6.9 พันล้านบาท และอายัดได้ทัน 449 ล้านบาท หรือเพียง 6.4% ของยอดเงินที่มีการร้องขออายัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 32,083 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้นสมาคมธนาคารไทย ยังพบอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการล่อลวงติดตั้งแอปเพื่อเข้ามาดูดข้อมูล รวมถึงปลอมเป็นแอปการเงิน เพื่อเข้ามาควบคุมอุปกรณ์และแอปการเงินของผู้เสียหาย (ATO-Account Take Over) เพื่อดูดเงินจากบัญชี ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท

นายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า ทรูมันนี่ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายแรกๆ ที่เดินหน้าพัฒนาการระบบเทคโนโลยีเพื่อปกป้องบัญชีของลูกค้า ที่ผ่านมาเราได้กำหนดให้มีสแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนและถอนเงินตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่แล้วเรายังได้จับมือกับ SHIELD ประกาศนำ “ระบบปฏิบัติการความปลอดภัยอัจฉริยะสำหรับธุรกรรมการเงินบนอุปกรณ์มือถือ” (Mobile Fintech Security Intelligence) มาใช้เป็นรายแรกของไทย

“ระบบ 3 ชั้นนี้เริ่มต้นพัฒนาและใช้งานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และมรวัตถุประสงค์โดยตรงเพื่อป้องกันมิจฉาชีพและการทุจริต เพื่อให้สถิติการถูกหลอกลวงดูดเงินในทรูมันนี่กลายเป็นศูนย์”

“นอกจากนี้ระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ‘TrueMoney 3 x Protection’ ถือว่าเป็นระบบเดียวที่มีในตลาดขณะนี้ที่สามารถ ตรวจ-จับ-หยุด ธุรกรรมแปลกปลอมได้ครบวงจร เนื่องจากทรูมันนี่ตระหนักดีว่า ถึงเราจะสร้างแอปการเงินที่มีเทคโนโลยีความปลอดภัยในระดับสูง แต่มิจฉาชีพก็อาจล่อลวงให้ผู้ใช้ตกเป็นเหยื่อและเผลอให้ข้อมูลสำคัญที่ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงบัญชีได้ ดังนั้นการสร้างระบบที่สามารถผสานข้อมูลและระบบความปลอดภัยให้ทำงานร่วมกันอย่างชาญฉลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยปกป้องผู้ใช้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำธุรกรรม พร้อมช่วยผู้ใช้จำกัดและหยุดความเสียหายแม้พลาดตกเป็นเหยื่อไปแล้วก็ตาม”

นางสาวมนสินีกล่าวถึงการเข้าชิงใบอนุญาตเวอร์ชวลแบงก์ ด้วยว่า ทรูมันนี่ มีความพร้อมในเรื่องระบบความปลอดภัยและเทคโนโลยี ในการให้บริการธนาคารไร้สาขาหรือ “เวอร์ชวลแบงก์”

“ตอนนี้เป็นช่วงของการพิจารณา และก็มีคนที่สนใจเข้ามาพูดคุยเพื่อขอเป็นพันธมิตร แต่ถึงอย่างไรก็ตรงรอกำหนดการที่ชัดเจนจากแบงก์ชาติ ตอนนี้เรียกว่า Considering อยู่จะดีกว่า”