สแกนตลาด “คราวด์ฟันดิ้ง” “อินเวสทรี” จุดพลุระดมทุน

วรกร สิริจินดา-ณัทสุดา พุกกะณะสุต
สัมภาษณ์

การระดมทุนจากคนจำนวนมากเพื่อโครงการหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยเจ้าของโครงการนั้นต้องนำเอาความคิดหรือธุรกิจของตนเองออกมาขอระดมทุนจากนักลงทุนให้ได้จำนวนเงินตามที่ต้องการ ผู้ระดมทุนได้เงิน นักลงทุนได้ผลตอบแทน ทั้งนี้ผลตอบแทนจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ตกลงกัน ถือเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับบริษัทเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงสูง แต่ต้องการเงินทุนเพื่อเติบโตต่อไป

ในบ้านเรา ปัจจุบันมีผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิ้ง (funding portal) ที่ได้รับความเห็นชอบ และกำกับดูแลจาก ก.ล.ต.แล้ว 6 ราย หนึ่งในนั้น คือ บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ขยายบริการมาจากต้นกำเนิดในอินโดนีเซีย และเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2564

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ 2 ผู้บริหาร “ณัทสุดา พุกกะณะสุต” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร และ “วรกร สิริจินดา” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด เกี่ยวกับมุมมองต่อตลาดคราวด์ฟันดิ้ง การพัฒนาเทคโนโลยี และข้อกฎหมายที่จำเป็นในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

“ไฮริสก์-ไฮรีเทิร์น”

“ณัทสุดา” กล่าวถึงการเติบโตของตลาดคราวด์ฟันดิ้งในประเทศไทยว่า หากมองเฉพาะกรณี “อินเวสทรี” ที่เริ่มธุรกิจในปี 2564 จะเห็นว่าความต้องการในการระดมทุนของเอสเอ็มอีมีอยู่มาก โดยในปี 2564 มีจำนวนเอสเอ็มอีที่ระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้ง 140 ราย มูลค่า 1.4 พันล้านบาท

ขณะที่ในปี 2565 ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องการเงินทุน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจทำให้ยอดการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้งเพิ่มขึ้นมาก เป็น 308 ราย มูลค่ากว่า 4.1 พันล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/2566 มีแล้ว 327 รายมูลค่า 1.6 พันล้านบาท เฉพาะไตรมาสแรกก็เติบโตเป็นเท่าตัวเทียบปี 2564 ทั้งปี

สำหรับอินเวสทรี ในปี 2564 มีการระดมทุนไป 211 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 เพิ่ม 3 เท่า เป็น 776 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรก/2566 ระดมทุนไปแล้วกว่า 299 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จาก 16% ปี 2564เป็น 18% ปี 2565 และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 20% ของตลาดรวมคราวด์ฟันดิ้ง

อย่างไรก็ตาม การระดมทุนหุ้นกู้ผ่านคราวด์ฟันดิ้ง มี “ความเสี่ยงสูงมาก” จึงต้องสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจด้วย แม้บริษัทจะมีวิธีจัดการกับความเสี่ยงทำให้หนี้เสียที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ แต่ต้องย้ำนักลงทุนว่าควรกระจายความเสี่ยง ซึ่งค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยของนักลงทุนอยู่ที่ 11.5% ถือว่าสูงมาก แต่ต้องบอกเสมอว่า การออกหุ้นกู้โดยคราวด์ฟันดิ้งให้เอสเอ็มอี เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงต้องแบกความเสี่ยงไว้มาก และนักลงทุนต้องเข้าใจจุดนี้

“เมื่อเห็นผลตอบแทนแล้วนักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้าใจระบบคราวด์ฟันดิ้ง แต่หากขาดทุนมักไม่เข้าใจ นั่นเป็นธรรมชาติของการลงทุน ซึ่งเราต้องสื่อสารกับนักลงทุนให้ดี”

สแกนตลาดในไทย

ปัจจุบันบนแพลตฟอร์มของอินเวสทรี มี 610 ราย แบ่งตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.ได้ 2 แบบ คือ มีรายใหญ่ และรายใหญ่มาก ราว 10% กลุ่มนี้ลงทุนได้แบบไม่จำกัดวงเงิน ที่เหลือเป็นรายย่อยที่สามารถลงทุนในคราวด์ฟันดิ้งได้ 1 ล้านบาทต่อรายเท่านั้น

“ในส่วนของผู้ขอระดมทุนหรือเอสเอ็มอี มีทุกระดับ ตั้งแต่ขอทุนเพื่อทำโปรเจ็กต์เล็ก ๆ ไม่กี่หมื่นบาทไปจนถึงระดมทุนหลายสิบล้าน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อราย ต่ำสุดที่ 58,000 บาท สูงสุด 58 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการระดมทุนสะสมอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสแรกระดมทุนไปแล้ว 299 ล้านบาท คาดว่าในสิ้นปีจะทำได้ถึง 2,000 ล้านบาท”

“ณัทสุดา” ย้ำว่า การระดมทุนได้จำนวนมาก ไม่ใช่แค่บริษัทที่เติบโตในแง่รายได้จากค่าธรรมเนียม แต่ส่งผล
ดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมด้วย 
เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้มีปัจจัยจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมแล้ว 6 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้น มีผลกับภาพรวมแนวโน้มสินเชื่อภาคธุรกิจในประเทศไทยที่อยู่ในภาวะตึงตัว

แบงก์ไม่ปล่อยกู้-เพิ่มโอกาส

“ธุรกิจอยากกู้ แต่แบงก์ไม่อยากปล่อยกู้แล้ว ปีนี้น่ากลัวกว่าช่วงโควิด-19 ตอนนั้นคนต้องการเงินเพื่อพยุงธุรกิจ ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ แต่ปีนี้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยยังต้องการเงินหมุนเวียนเพื่อที่จะกลับมาหลังโควิด แต่แบงก์เริ่มไม่อยากปล่อยกู้แล้ว เราเจอปัญหาในเซ็กเมนต์ผู้รับเหมาก่อสร้างที่เริ่มส่งสัญญาณการชำระหนี้ที่ช้าขึ้น และมีความถี่ในการชำระช้ามากขึ้น แม้การท่องเที่ยวและการบริการจะกลับมา แต่ภาคการผลิตยังหดตัว SMEs ต้องการสินเชื่อมากขึ้น เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน”

ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก ชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก แต่ปัญหาคือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อยมีปัญหาสภาพคล่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สำหรับบริษัทถือเป็นโอกาส โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง เมื่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ต้องหันมาระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้ง

“เรามีวิธีการจัดการความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ ช่วยผู้รับเหมาที่มีโครงการกับบริษัทใหญ่ ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์เราอยู่แล้ว เช่น กำลังมีโปรเจ็กต์กับเซ็นทรัลพัฒนา เราก็จะรู้ว่าเขาจะได้เงินภายในกี่เดือน หากต้องการเงินทุนหมุนเวียนก็จะไปเสนอให้ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มของเรา เรามุ่งหาลูกค้ากลุ่มผู้รับเหมาที่มาจากพาร์ตเนอร์ของเรา”

“วิธีการคัดเลือกธุรกิจหรือสตาร์ตอัพที่มาขอลงทุนบนแพลตฟอร์มอินเวสทรี จะใช้กลยุทธ์การอ้างอิงจากพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือของธุรกิจนั้น ๆ โดยเฉพาะพวกที่มีโปรเจ็กต์ หรือมีระยะที่รายได้จะกลับมาอยู่แล้ว เรียกว่า invoice financing”

ยิ่งโตยิ่งต้องกำกับดูแล

“วรกร” อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง “อินเวสทรี” กล่าวด้วยว่า กำลังเตรียมปรับระบบไอทีภายในใหม่ ทั้งระบบงานหน้าบ้านที่จะต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น ขณะที่ระบบหลังบ้านจะเน้นเรื่องความปลอดภัย ด้วยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน จึงจะมีการปรับปรุง core technology ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

“ต้นทุนในการบริหารอยู่ที่งานด้านไอทีราว 30% ตัวเทคโนโลยีต้องปรับให้เหมาะกับบ้านเรา ไม่สามารถเอาทั้งหมดจากอินโดนีเซียมาใช้ได้เลย นโยบายทางการเงินแต่ละที่จะมีความแตกต่างกันไปตามบริบท รวมถึงค่าเงิน และหน่วยทศนิยมต่าง ๆ ถ้านำมาปรับใช้ในไทยแล้วเวิร์กก็จะสามารถขยายออกไปให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีบริบทคล้ายเราได้ เช่น ฟิลิปปินส์”

“ณัทสุดา” กล่าวด้วยว่า แม้สัดส่วนของการระดมทุนผ่าน “คราวด์ฟันดิ้ง” ที่กระทบต่อตลาดทุนจะมีน้อยมาก เทียบกับนโยบายดอกเบี้ย ค่าเงิน และโครงสร้างทางการเงิน แต่หุ้นกู้จาก “คราวด์ฟันดิ้ง” มีความเสี่ยงสูง หากใครล้มหรือทำผิดพลาดจะสะเทือนทั้งอุตสาหกรรม จึงต้องมีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ จากผู้กำกับดูแล

“คราวด์ฟันดิ้งเป็นฟินเทคที่เกิดมานานในตลาดโลก เมื่อประเทศเราจะต้องเริ่ม จึงมีการกำกับดูแลที่เปิดกว้าง เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เกิด มีการออกใบอนุญาตต่าง ๆ เมื่อตลาดเกิดขึ้นมาแล้วการกำกับดูแลจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตและสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดตามมา”