“บิทคับ” ผนึก ThaiGPT ลุยลงทุน AI ขยายน่านน้ำธุรกิจใหม่

บิทคับ-ThaiGTP

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี “AI” (artificial intelligence) เปรียบเสมือนพายุลูกใหญ่ที่พัดพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ธุรกิจต่าง ๆ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตื่นตัวตื่นเต้นกับการเรียนรู้ และหาทางนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ กลุ่มบิทคับ (Bitkub) ก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังขยับขยายธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มากไปกว่า “กระดานเทรดคริปโต” ล่าสุดจัดตั้งบริษัทใหม่ “บิทคับ มูนช็อต” ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นสำหรับองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้ชื่อ “Bitkub AI” พร้อมไปกับการเข้าไปลงทุนในบริษัท ไทย จีพีที จำกัด (ThaiGPT)

AI เทรนด์ใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

“จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่” (4th industrial revolution) ที่โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT infrastructure) ทั้งหมดกำลังเปลี่ยนแปลง AI เป็นเทคโนโลยีมาแรงที่ไม่ควรมองข้าม หรือประเมินความสามารถต่ำเกินไป เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสิทธิภาพการทำงานได้จริง

“AI กลายเป็นวาระระดับโลกไปแล้ว อย่างการประชุม World Economic Forum เดือน ม.ค.ปีหน้าก็จะมีธีมหลักเป็นเรื่องนี้ หรือแม้แต่ทักษะแห่งอนาคตที่โลกต้องการก็เป็น soft skills ทั้งสิ้น เช่น การพูดในที่สาธารณะ การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ การทำงานกันเป็นทีม ฯลฯ เพราะทักษะเชิงวิชาชีพ (technical skills) เป็นสิ่งที่ AI ทดแทนได้หมด และที่สำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า 44% ของทักษะความสามารถ (skill sets) ทั้งหมดจะไม่สามารถใช้ได้ ประชากรทั้งโลกมีแนวโน้มต้องกลับไปเรียนเพื่อยกระดับชุดความรู้ใหม่ ๆ (reskill & upskill) ในอีก 10 ปีต่อจากนี้”

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ “บิทคับ” ถึงให้ความสำคัญกับการลงทุน AI ในมิติต่าง ๆ

ที่มา “บิทคับ มูนช็อต-ThaiGPT”

“ธนัท เบญจภัทรเศรษฐ์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท บิทคับ มูนช็อต จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บิทคับมีทีมภายในบริษัทเรียกว่า “มูนช็อต” (Moonshot) เป็นทีมที่คิดและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น Bitkub Blockchain ก็เป็นหนึ่งในนั้น และแยกออกไปตั้งเป็นอีกบริษัทต่างหาก ล่าสุดขยับไปพัฒนาโปรเจ็กต์อื่น ๆ ต่อ แต่ยังไม่มีอะไรเจ๋ง ๆ กระทั่งมีเทคโนโลยี ChatGPT จึงตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างจริงจัง จนเริ่มมีโซลูชั่นของตนเองออกมาเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมี “ThaiGPT” เป็นพาร์ตเนอร์

“บิทคับ มูนช็อต” มาพร้อมวัตถุประสงค์ในการให้บริการทุกความต้องการด้านเทคโนโลยี เช่น การพัฒนา AI และแอปพลิเคชั่นบนบล็อกเชน (decentralized application หรือ DApp) รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มระดับองค์กรในหน่วยงานราชการและภาคเอกชนต่าง ๆ

ผ่านบริการ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ consulting-ที่ปรึกษาการใช้งานโซลูชั่นต่าง ๆ, tech partner-พาร์ตเนอร์ในการออกแบบโซลูชั่นให้เข้ากับองค์กรมากที่สุดและ turnkey product development-ผู้ช่วยในการวางระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การออกแบบกราฟิก การวางโครงสร้างระบบและการนำโซลูชั่นไปใช้บนแพลตฟอร์มขององค์กร

ด้าน นพ.ภาณุทัต เตชะเสน ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทย จีพีที จำกัด เล่าว่า หลังเทคโนโลยี Generative AI อย่าง ChatGPT เปิดตัวในปลาย พ.ย. 2565 ก็ตัดสินใจตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในเดือนถัดมา เพราะมองว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วมาก และมีความก้าวหน้ากว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ถ้าไม่รีบเข้าไปศึกษาหรือทำอะไรจะตามไม่ทันอย่างแน่นอน

“ตลอด 6 เดือนที่วิจัยและพัฒนาการใช้งาน AI เราโยนโปรเจ็กต์ทิ้งเป็นว่าเล่น เพราะเวลาผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน โปรเจ็กต์ที่ทำก็ล้าสมัยแล้ว โปรเจ็กต์ที่ทำไปมากมายต้องแลกกับเงินที่เสียไปจำนวนมากเช่นกัน ถ้าไม่มีทุนก็อยู่ไม่ได้ จึงถือเป็นความโชคดีที่ได้เจอพาร์ตเนอร์อย่างบิทคับที่เข้าใจ และสนับสนุนการวิจัยของเรามาโดยตลอด”

จังหวะก้าวกระโดดครั้งใหม่ ?

อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง ThaiGPT “โดม เจริญยศ” เสริมว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มหัศจรรย์ในแง่ของผู้ใช้งานมาก อย่าง ChatGPT เปิดระบบไม่กี่วันก็มีผู้ใช้ทะลุหลักล้านแล้ว ถ้าเทียบกับเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างบล็อกเชนต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีคนเข้าใจและเข้ามาใช้ สะท้อนให้เห็นว่าในมุมของผู้ใช้งานทั่วไปมีความตื่นตัวกับ AI แต่ในฝั่งองค์กรยังเป็นความท้าทายอยู่มาก

“AI จะเปลี่ยนแปลงทุกวงการอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบหลังบ้าน เพื่อสร้างการรับรู้เชิงลึกหรือออกแบบวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร โดย AI จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการขยายฐานลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิม ซึ่งความร่วมมือระหว่างเรากับบิทคับจะเป็นตัวเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้องค์กรต่าง ๆ”

“สกลกรย์ สระกวี” ประธาน บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับบิทคับ AI เป็นโซลูชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาในองค์กรด้วย พอได้คุยกับ “ThaiGPT” ที่เริ่มพัฒนาการใช้งานโมเดล AI เป็นภาษาไทย ก็รู้สึกว่าเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อเข้ากับความต้องการของบิทคับพอดี จึงคว้าโอกาสและตัดสินใจเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัท ThaiGPT ในวงเงินที่เปิดเผยได้เพียงเป็นตัวเลข 8 หลัก

“เราเป็นบริษัทเทค แต่ก็ยังนำ AI มาใช้ในองค์กรน้อยมาก การลงทุนใน ThaiGPT ที่เป็นทีม R&D เกี่ยวกับโมเดล AI มีวัตถุประสงค์แรกเลยคือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบิทคับ เช่น พัฒนาโซลูชั่นตรวจสอบข้อมูลลูกค้าผ่านการยืนยันตัวตนแบบ KYC แต่เดิมต้องใช้เวลาวิเคราะห์ 5-10 นาที แต่พอใช้ AI เหลือแค่ 20-40 วินาที หรืออย่างการบริการลูกค้า ถ้าใช้ AI เป็นผู้ช่วยตอบอัตโนมัติก็จะแก้ปัญหาเรื่องคู่สายหลุดหรือตอบไม่ทันได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพงานโดยใช้คนเท่าเดิม”

พัฒนาเป็นธุรกิจทำเงิน

“สกลกรย์” กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากบิทคับนำ AI มาพัฒนาเป็นโซลูชั่น เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรได้สำเร็จ ก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและการขยายน่านน้ำที่เสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทแม่ เป็นที่มาของธุรกิจใหม่ “Bitkub AI” ซึ่งเป็น “enterprise solution” หรือบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโซลูชั่น AI ทั้งหมด

“ธนัท” เสริมว่า Bitkub AI เป็นโซลูชั่นที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานจาก ThaiGPT ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อปลั๊กอิน API เข้ากับ “Microsoft Azure” และพัฒนาการใช้งานด้วยภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เราไม่ได้ทำโมเดล AI มาแข่ง แต่ ThaiGPT ทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบเข้ากับโมเดล AI และรวบรวมเซอร์วิสทั้งหมดที่มีนำมาออกแบบเป็นโซลูชั่นที่เข้ากับแต่ละองค์กร การทำแบบนี้มีข้อดีหลายอย่าง ในส่วนของลูกค้าก็มีโอกาสเลือกโซลูชั่นที่ตรงความต้องการมากกว่าดีลตรงกับ Azure หรือผู้ให้บริการรายอื่น ส่วนบิทคับก็ได้ประโยชน์ในมุมที่ไม่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง”

อย่างไรก็ตาม บริการของ Bitkub AI ยังเป็นแบบ “closed beta” ไม่ได้ให้บริการแบบสาธารณะ และมีแผนสร้างรายได้ 2 แบบ คือ สมัครสมาชิกรายเดือน (subscription package) และจ่ายเท่าที่ใช้ (pay per use)

“ลูกค้าจะจ่ายผ่าน Bitkub AI เราจะไปแบ่งสัดส่วนกับ ThaiGPT อีกที เป้าหมายในเชิงตัวเลขยังบอกไม่ได้ขนาดนั้น แต่เป้าหมายหลักยังเป็นการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจของบิทคับมากกว่า”

ถ้าเป็นแบบ turnkey ที่ต้องเข้าไปวางระบบตั้งแต่ต้นจนจบ Bitkub AI จะดูแล แต่ถ้าเป็นองค์กรที่มีทีมอยู่แล้วหรือระบบไม่ได้ซับซ้อนมากจะเป็น ThaiGPT ดูแลโดยตรง โดยลูกค้าที่กำลังเจรจาตอนนี้เป็นกลุ่มค้าปลีกและโรงแรม

“สกลกรย์” ทิ้งท้ายด้วยว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงมีโอกาสที่ Bitkub AI และ ThaiGPT จะต้องพัฒนาโมเดล AI ของตนเอง โดยลงทุนอุปกรณ์และการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนเรื่องการเพิ่มคนต้องดูจากความต้องการของลูกค้าและการเติบโตทางธุรกิจ ปัจจุบันมีทีมงานราว 30 คน แบ่งเป็นฝั่งที่ดูเรื่องธุรกิจเป็นคนของบิทคับ 10 คน ส่วนที่พัฒนาเทคโนโลยี หรือของ ThaiGPT มี 20 คน