Health Tech ขานรับเทรนด์สุขภาพ โตแรง 65%

ดร.กษิติธร ภูภราดัย
ดร.กษิติธร ภูภราดัย

“ดีป้า” เผยมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 อยู่ที่ 2,614,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 14% ส่วน “Health Tech” โตแรง ขยายตัวถึง 65%

วันที่ 21 กันยายน 2566 ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า ร่วมมือกับสถาบันไอเอ็มซี ในการสำรวจข้อมูลของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 ที่ประกอบไปด้วย 5 อุตสาหกรรมหลัก คืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software), อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices), อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services), อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และอุตสาหกรรมสื่อสาร (Telecommunication)

“มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 อยู่ที่ 2,614,109 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าเฉลี่ย 14% โดยมีอัตราการเติบโตอย่างมากในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุด คืออุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ คิดเป็น 55% ส่วนอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลขยายตัวมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพที่ได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโควิด-19 และเติบโตตามเทรนด์รักสุขภาพ”

โดยมูลค่ารวมและทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยในปี 2565 เป็นดังนี้

1. อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

จากการสำรวจฐานข้อมูล 13,013 บริษัทในอุตสาหกรรม พบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 190,766 ล้านบาท เติบโต 19% ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 2,453 ล้านบาท เติบโต 9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 49,568 ล้านบาท เติบโต 23%

Advertisment

สำหรับธุรกิจซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 78,043 ล้านบาท เติบโต 18% แบ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในเครื่อง (On-Premise) มูลค่า 47,549 ล้านบาท และซอฟต์แวร์เช่าใช้ (Cloud/SaaS) มูลค่า 30,494 ล้านบาท ส่วนบริการซอฟต์แวร์ที่ประกอบด้วย ประเภทผู้ติดตั้งระบบ (System Integrator) ประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ (Software Maintenance) ประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์ (Software Customization) และประเภทฝึกอบรมและที่ปรึกษา (Consult/Training) มีมูลค่ารวม 112,723 ล้านบาท เติบโต 19% โดยประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์มีมูลค่าสูงที่สุด คือ 33,802 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์มีมูลค่า 31,073 ล้านบาท และประเภทผู้ติดตั้งระบบมีมูลค่า 27,090 ล้านบาท

และเมื่อพิจารณาจากความต้องการซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศคาดว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566-2568 อาจมูลค่าถึง 218,999 ล้านบาท, 241,775 ล้านบาท และ 265,469 ล้านบาทตามลำดับ

Advertisment

2. อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ

ในปี 2565 อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งแบ่งตามสินค้าและอุปกรณ์ 6 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ (Computer), อุปกรณ์ต่อพ่วง (Peripheral), เครื่องพิมพ์ (Printer), อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage), อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot and Automation) มีมูลค่า 1,431,980 ล้านบาท เติบโต 18% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 438,508 ล้านบาท เติบโต 13% มูลค่าส่งออก 993,472 ล้านบาท เติบโต 19%

โดยประเภทของสินค้าและอุปกรณ์ที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ คืออุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot and Automation) มีมูลค่ารวมทั้งสองอุตสาหกรรมอยู่ที่ 419,989 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า อุปกรณ์อัจฉริยะเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนไทยในสังคมดิจิทัลมากขึ้น

นอกจากนี้ รายงานผลสำรวจยังระบุว่า แม้มูลค่าอุตสาหกรรมปี 2566 อาจจะขยายตัวไม่มาก และมีมูลค่าอยู่ที่ 1,472,075 ล้านบาท แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตถึง 1,744,409 ล้านบาทในปี 2567 และ 2,065,381 ล้านบาทในปี 2568

ดร.กษิติธร ภูภราดัย

3. อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล

อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลปี 2565 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 281,515 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2564 ถึง 21% โดยอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่

1. ค้าปลีก (e-Retail) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 78,290 ล้านบาท เติบโต 28%
2. ขนส่ง (e-Logistics) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 83,472 ล้านบาท เติบโต 19%
3. ท่องเที่ยว (e-Tourism) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 10,239 ล้านบาท เติบโต 21%
4. สื่อออนไลน์ (Online Media) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 42,911 ล้านบาท เติบโต 19%
5. ผู้ให้บริการโฆษณาออนไลน์ (e-Advertise) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 22,119 ล้านบาท เติบโต 7% 6. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 42,541 ล้านบาท เติบโต 22%
7. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Tech) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 742 ล้านบาท เติบโต 65%
8. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 1,201 ล้านบาท ลดลง 2%

4. อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์

มูลค่ารวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ปี 2565 อยู่ที่ 40,518 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงจากปีก่อนหน้า 4% ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมเกมที่มีส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์สูงถึง 85% หลังจากเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงปี 2563-2564 จากการระบาดของโควิด-19 ที่คนจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคมและทดแทนด้วยกิจกรรมบันเทิงในที่พักอาศัย

และเมื่อจำแนกเป็นรายอุตสาหกรรมจะพบว่า อุตสาหกรรมเกมมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 34,556 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 7%, อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นขยายตัวเฉลี่ย 15% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,936 ล้าน, อุตสาหกรรมแคแรกเตอร์ปี 2565 มีอัตราการเติบโตถึง 26% และมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,025 และอุตสาหกรรมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊กมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,712 ล้านบาท

5. อุตสาหกรรมสื่อสาร

รายงานผลสำรวจประมาณการว่า ในปี 2565 มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมสื่อสารอยู่ที่ 669,330 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 26% ของทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าราว 3%

ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า การสำรวจในครั้งนี้มีการวัดมูลค่าของอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ด้วย แต่เป็นมูลค่าที่ผสานรวมอยู่ในอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์

จากการคำนวณมูลค่ารายได้ของอุตสาหกรรมจำนวน 213 บริษัท พบว่า อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ ปี 2565 มีมูลค่า 25,471 ล้านบาท เติบโต 15% การสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. ส่วนฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 3,648 ล้านบาท เติบโต 20% 2. ส่วนซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 6,717 ล้านบาท เติบโต 20% 3. ส่วนงานบริการ มีมูลค่า 15,059 ล้านบาท เติบโต 12%

“รายได้ที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมดิจิทัลและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI, IoT, Blockchain ตลอดจน Web 3.0 และ Quantum Computing จะมีส่วนกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเติบโตยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ธนชาติกล่าว