“คูโบต้า ฟาร์ม” โมเดล พื้นที่ต้นแบบเกษตรทันสมัย

คูโบต้า
คูโบต้าฟาร์ม

Foodtech & Agritech เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ต้องการผลักดันให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ล่าสุดเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มหาวิทยาลัยบูรพา และคูโบต้าฟาร์ม สนับสนุนให้มีการจัดพื้นที่ทดสอบนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยีการเกษตร

“คูโบต้า” ผู้พัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรรายใหญ่ที่เข้ามาทำตลาดในไทยกว่า 45 ปี มีตั้งแต่รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว โดรนการเกษตร และอื่น ๆ ปัจจุบัน “สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น” ได้พลิกบทบาทสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นด้านการเกษตรอัจฉริยะ (smart farming)

จุดเริ่มต้น “คูโบต้าฟาร์ม”

“รัชกฤต สงวนชีวิน” ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการทำการเกษตรแบบเดิมที่ลงทุนลงแรงไปมากแต่ได้ผลผลิตและรายได้ไม่คุ้มค่าเหนื่อยสู่การพัฒนาคูโบต้าฟาร์ม ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บนโจทย์ตั้งต้นที่ต้องการแก้ปัญหาด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพดิน และการคำนวณปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก

นายรัชกฤต สงวนชีวิน

“เราเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝน ทิศทางลม ความชื้น และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาวางแผนการปลูกพืช เราตั้งใจให้ความรู้กับเกษตรกรที่อาจคุ้นเคยกับวิธีการแบบเดิม เช่น ไม่คำนวณปริมาณน้ำ ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น หรือช่วงหน้าแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอ เพราะไม่ได้สร้างบ่อไว้เก็บ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยตัวเลข และหลักการทางวิทยาศาสตร์ เราเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเกษตรกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคูโบต้าฟาร์มให้เป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับ smart farming ครบวงจร”

เช่น บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นเก่งเรื่องการปลูกข้าว แต่พืชผลงอื่น ๆ อาจมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่เก่งกว่า พื้นที่ตรงนี้จึงเปิดกว้างให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้มาแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกันได้ ภายในฟาร์มแบ่งพื้นที่ให้แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบการวิจัยของตนเอง เช่น ม.บูรพา จะวิจัยเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนให้ออกดอกผลในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก

“คูโบต้าฟาร์ม” ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการน้อมนำแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มาต่อยอดบนพื้นที่ 220 ไร่ ด้วยเงินลงทุนตั้งต้น 145 ล้านบาท ในปี 2560 ก่อนจะเปิดให้เกษตรกร หน่วยงานต่าง ๆ และบุคคลทั่วไปเข้าชมพื้นที่ในปี 2563

ปัจจุบัน แบ่งพื้นที่เป็น 10 โซน ได้แก่ 1.โซนปรึกษาเกษตรครบวงจร 2.โซนเกษตรแม่นยำข้าวและพืชหลังนา 3.โซนเกษตรทฤษฎีใหม่ 4.โซนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ 5.โซนระบบโครงสร้างพื้นฐาน 6.โซนเกษตรสมัยใหม่พืชไร่ 7.โซนวิจัยเกษตรครบวงจร 8.โซนอบรมเกษตรครบวงจร 9.โซนพื้นที่สร้างประสบการณ์นวัตกรรมการเกษตร และ 10.โซนนวัตกรรมพืชสวน

“รัฐ-เอกชน” ร่วมด้วยช่วยกัน

ด้าน ผศ.ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก รองประธานคณะกรรมการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวในฐานะพันธมิตรที่ร่วมงานกับสยามคูโบต้ามาตั้งแต่ปี 2562 ว่า คูโบต้าฟาร์มเป็นพื้นที่ทดสอบ (agricultural lab) ที่ให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีของตนเองมาทดสอบ และพัฒนาโซลูชั่นร่วมกับสยามคูโบต้าเพื่อก้าวสู่การเป็นฮับด้านเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศ ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในหมู่เกษตรกร

“เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศเป็นผู้สูงอายุ นอกจากจะคุ้นเคยกับวิธีการแบบเดิมแล้วยังประสบปัญหาแรงงาน สิ่งที่คูโบต้าฟาร์มทำ คือพัฒนาโซลูชั่นที่ช่วยทุ่นแรง แต่ก็เป็นความท้าทายในการสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร เราต้องมี system integrator รวบรวมโซลูชั่นจากผู้พัฒนาหลายราย และเป็นตัวกลางในการเชื่อมเกษตรกรกับคนที่พัฒนาเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน”

ทั้งเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ (young smart farmer) ป้อนเข้าสู่ภาคการเกษตร เชื่อมต่ออีโคซิสเต็มด้านการเกษตรให้ครอบคลุมทุกมิติ

“คูโบต้าฟาร์ม” เปรียบได้กับพื้นที่ฝึกหัดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านการเกษตร ทำให้รู้ว่าการทำการเกษตรไม่ใช่อาชีพร้อน ต้องถือจอบ ถือเสียมไปขุดดินอีกต่อไป แต่นำเทคโนโลยีมาช่วยทุ่นแรงได้ และเป็นพื้นที่ที่ช่วยกระจายองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยมาสู่ภายนอก เช่น ม.บูรพา นำความรู้เรื่องการปลูกทุเรียน ตั้งแต่เพาะกล้า การจัดการโรค ตัดแต่งกิ่งควบคุมความสูงมาเผยแพร่ เป็นต้น

เพิ่มตัวช่วยเกษตรกร

โดยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ได้ทดสอบโซลูชั่นต่าง ๆ ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่น่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะเกษตรปลอดนาหว่าน (zero broadcast) หรือการดำนาที่ใช้ต้นกล้าน้อยลง ด้วยการใช้รถดำนาปักดำแทนการหว่านแบบดั้งเดิม แก้ปัญหาต้นข้าวหนาแน่น ไม่สม่ำเสมอ ยากต่อการบำรุงรักษา และใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณมากทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้งมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ปฏิทินการเพาะปลูก” (KAS Crop Calendar) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นตัวช่วยให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก และจัดหาอุปกรณ์การเกษตรได้อย่างเหมาะสม

“แค่ใส่ข้อมูลพันธุ์ข้าว และประเภทการทำนาในแอปพลิเคชั่น ก็จะคำนวณแผนการดูแลต้นกล้าในเบื้องต้นได้ แต่ละวันต้องใส่ปุ๋ยให้พืชเท่าไร พืชพร้อมเก็บเกี่ยวในอีกกี่วันข้างหน้า”

นอกจากโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรยังพัฒนาโซลูชั่นเกษตรลดโลกร้อนที่มีการควบคุมปริมาณน้ำ และปัจจัยต่าง ๆ เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทน เพราะภาคการเกษตร มีการปล่อยคาร์บอนถึงปีละ 50 ล้านตันคาร์บอน จากทั้งหมด 300 ล้านตันคาร์บอนต่อปี ถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

“เรากำลังทำเรื่องจดทะเบียนโซลูชั่นนี้ ถ้าทำสำเร็จ เกษตรกรจะแลกคืนคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต”

ต่อยอดสู่ “เกษตรอินโน”

นอกจากคูโบต้าฟาร์มจะเปรียบได้กับ sandbox สำหรับทดสอบเทคโนโลยีการเกษตรแล้วยังเป็นโอกาสในการขยายน่านน้ำธุรกิจจากผู้ผลิตอุปกรณ์มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาและบริการด้านการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ ในชื่อบริษัท เกษตรอินโน จำกัด

“เกษตรอินโนเป็นบริษัทลูกที่ spin off ออกมา เพราะสยามคูโบต้ามีสถานะเป็นบริษัทต่างชาติจากการร่วมทุนระหว่างคูโบต้า คอร์ปอร์เรชั่น (60%) และ SCG (40%) ซึ่งธุรกิจบางประเภทสงวนไว้สำหรับบริษัทไทย โดยเฉพาะการให้บริการ และการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร หลาย ๆ หน่วยงานที่มาดูงานที่ฟาร์มเราต้องการให้ช่วยออกแบบพื้นที่ให้ รวมถึงคนที่ต้องการพัฒนาที่ดินเพื่อรับประโยชน์ทางภาษีก็มีมากขึ้นจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ”

เกษตรอินโนให้บริการ 3 ส่วน 1.farm service บริการออกแบบ ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาพื้นที่ และวางแผนการดำเนินงานในฟาร์ม ที่เริ่มรับข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ และพัฒนาพื้นที่ไปแล้วบางส่วน เช่น โครงการฟาร์ม ลุงพาน จ.ราชบุรี 2.farm solution แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการงานในฟาร์ม เช่น K-iField แอปบริหารจัดการฟาร์ม, KIN-MATCH บริการจ้างเครื่องจักรกลพร้อมคนขับ ฯลฯ 3.online farmer’s market มาร์เก็ตเพลซจำหน่ายสินค้าการเกษตรจากเกษตรกรไทย

เป้าหมายที่มากกว่าธุรกิจ

“เป้าหมายของเรายังเป็นการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น ลดรายจ่ายด้านแรงงาน เราเข้าไปส่งเสริมเกษตรกร 7 แห่งในพื้นที่ 6 จังหวัดที่มีปัญหาในการปลูกพืชแตกต่างกัน ถ้าแก้จนอยู่ได้ด้วยตนเองแล้วก็จะพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่น ๆ มาดูงานต่อ ถือเป็นเรื่องดีที่พอเกษตรกรอยู่ได้ เขาก็อาจจะกลับมาเป็นลูกค้าของเรา”

ผู้บริหาร สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ย้ำว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้มากที่สุด ด้วยมองว่าการพัฒนาโซลูชั่นด้านการเกษตรเป็นสิ่งที่ไปต่อได้เรื่อย ๆ และไม่สามารถทำคนเดียวได้

“เราตั้งใจที่จะเป็น experience center หรือศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรสมัยใหม่กับชาวต่างชาติ และผู้พัฒนาโซลูชั่นการเกษตรที่ช่วยเกษตรกรในภูมิภาคอาเซียนด้วย”