Facebook กำลังศึกษาก่อนจดแจ้ง ETDA ตามกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล

Facebook ประเทศไทย

Facebook ประเทศไทย เผย กำลังไตร่ตรองเนื้อหากฎหมายคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลจากฉบับภาษาไทย ชี้ เห็นความสำคัญสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐควบคุมการระบาดของมิจฉาชีพ-Scammer

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นางสาวอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta เปิดเผยว่า Meta กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาข้อกฎหมาย พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 เพื่อเข้าจดแจ้งการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มกับสำนักพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ในการจัดบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชนและร่วมพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์” #StayingSafeOnline

“ข้อกฎหมายนี้ได้ประกาศใช้ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงกฎหมายลูก ซึ่งยังมีเวลาให้พิจารณาก่อนจดแจ้งอยู่ถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ เราจึงต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้ดีที่สุดเสียก่อน เนื่องจากกฎหมายนี้ออกมาเป็นภาษาไทย”

ด้าน ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ในฐานะหน่วยงานพันธมิตร กล่าวเสริมว่า เจตนาของข้อกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลตนเองของแพลตฟอร์ม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าถึงและร่วมแบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นในการใช้ปกป้องคุ้มครองผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม

ดร.เวทางค์กล่าวด้วยว่า กลลวงยอดนิยมหลอกลวงออนไลน์ในปัจจุบัน เช่น หลอกให้ทำภารกิจทำงานออนลน์ โทร.หลอกลวงหรือคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุน โดยเฉพาะการหลอกลวงด้านการเงินการลงทุนนับเป็นปัญหาที่กระทรวงดีอีให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการทำงานในเชิงรุก

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตร อย่าง Meta เพื่อช่วยระบุตัวตน เข้าถึงไอพี และสกัดกำจัดมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คดีด้านการหลอกลวงออนไลน์กว่า 2 แสนคดี สะท้อสความเป็นจริงที่ว่าระบบการจ่ายเงินออนไลน์เราดีมีคนใช้มากติดอันดับท็อป 5 ของโลก อินเทอร์เน็ตดี และมีระบบแจ้งความที่ดี คือ ไม่ต้องไปแจ้งที่สถานีแล้วแจ้งออนไลน์ได้ ทำให้สถิติอาชญากรรมออนไลน์ถูกมองเห็นได้มากขึ้น คดีความส่วนใหญ่มาจากการซื้อขายของออนไลน์ ซึ่งมีการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเยอะมาก”

“ในขณะเดียวกัน แม้เทคโนโลยีการตรวจสอบอาชญากรรม การระงับธุรกรรมชั่วคราวให้ผู้ที่ถูกหลอกลวงได้รับเงินคืนมากขึ้น แต่อาชญากรมึการพัฒนาตามไปด้วย เงินกว่าหมื่นล้านที่ได้จากการหลอกลวง ก็มีการไปซื้ออุปกรณ์ ซื้อเทคโนโลยี และพัฒนาวิธีการหลอกลวงได้ดีขึ้น วิธีการหลอกเปลี่ยนไปและดีขึ้น ซับซ้อนขึ้น ทำให้โอกาสเสี่ยงโดนง่ายขึ้น”

การดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาหลอกลวงออนไลน์ของกระทรวงดีอีเอสทำ 3 ด้าน ด้านแรก คือ เชิงรุก ร่วมงานกับแพลตฟอร์ม หน่วยงานตำรวจที่เปิดให้มีการแจ้งการร้องเรียนก็ดีขึ้น แต่ก่อนมีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้าข่าย Scam ปีละหมื่น URL ตอนนี้เฉลี่ยที่เดือนละหมื่น

สอง ป้องกันตัดตอน เนื่องจากมิจฉาชีพต้องการเงิน จึงมีการออก กม. ตัดวงจร คือ พ.ร.ก.จัดการอาชญากรรมออนไลน์ ที่ให้อำนาจธนาคารระงับธุรกรรมที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นมิจฉาชีพ

สาม คือ การบูรณาการ ตั้งศูนย์ต้านอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นดีด้วยอย่างมาก อย่างเช่นการรวบ เบอร์ 1441 ของตำรวจไซเบอร์ เป็นคอลเซ็นเตอร์เบอร์เดียวที่ธนาคาร ตำรวจ ปปง. ใช้ และศูนย์นี้จะเป็นที่ที่ทุกหน่วยงานมาแชร์ข้อมูลที่เดียวกัน เพื่อปราบอาชญากรรมไซเบอร์

นางสาวอิงกล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อรับมือปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์

“มีการจัดการเนื้อหาที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็วที่ทางกระทรวงได้แจ้งข้อมูลเข้ามา รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้และแคมเปญการให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เท่าทันกลลวงและรู้วิธีการรายงานเนื้อหาเข้ามาได้ เรายังมีการตรวจหาและไล่ลบบัญชีที่มีการตรวจพบว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นอันตราย หลอกลวงหรือละเมิดกฎอยู่เป็นประจำ และด้วยเทคโนโลยี machine learning และ AI ก็ทำให้เราสามารถตรวจพบเนื้อหาเหล่านั้นก่อนที่ผู้ใช้อื่น ๆ จะได้เห็นด้วย”

มาตรฐานการโฆษณาของ Meta

จากปัญหาเรื่องการปลอมแปลงโปรไฟล์ เป็นคนมีชื่อเสียง หรือแอ็กเคานต์ปลอมแปลงมาหลอกลวงให้ประชาชาชนไปลงทุน หรือไปซื้อสินค้าและบริการ โดยใช้วิธีการซื้อโฆษณา หรือยิง Ads ไปยังประชาชนเป็นวงกว้าง ทำให้มีการตั้งคำถามถึงมาตรฐานการซื้อโฆษณา ของ Meta ว่าหละหลวมไม่มีการควบคุม

นางสาวเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพได้พัฒนากลวิธีในการปลอมแปลงตัวตนให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้หลายครั้งการตรวจจับคัดกรองเบื้องด้วยอัลกอริทึ่มของแพลตฟอร์มไม่สามารถตรวจจับได้แต่ต้น ดังนั้นจึงมีการซื้อโฆษณาหลอกลวงหลุดรอดไป จึงเพิ่มมาตรการตรวจสอบคอนเทนต์ด้วยทีมงานที่เป็นมนุษย์ที่มีอยู่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้ใช้ช่วยการกด “รีพอร์ต” หรือรายงานโพสต์ที่คาดว่าจะเป็นการหลอกลวง หรือ Scam

“หากพบว่าระบบอัตโนมัติของเรารายงานว่าโพสต์นั้นไม่ผิดกฎเกณฑ์ หรือมาตรฐานชุมชน ให้กดรายงานซ้ำได้ การรายงานซ้ำจะฝากร่องรอยให้ระบบสงสัยแล้วจะมีการเข้าไปตรวจสอบด้วยทีมงานอีกทีหนึ่ง”

“เพราะกระบวนการดำเนินงานตรวจสอบโพสต์ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี จึงมีวิธีหลากหลายเพื่อตรวจจับและตรวจสอบโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบายของเรา เรามีการดำเนินงานเชิงลึกที่มากกว่าการตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้น โดยเรายังตรวจสอบและสำรวจพฤติกรรมของนักโฆษณา และอาจจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณาของเรา และเรายังคงมองหาวิธีการในการขยายกระบวนการดำเนินงานและเครื่องมือของเราอย่างต่อเนื่อง”

การตรวจจับและป้องกันสแกมบนแพลตฟอร์มของ Meta

หากแพลตฟอร์ม Meta พบว่าบัญชีใดบัญชีหนึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง

หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด หรือหากบุคลากรผู้ตรวจสอบของเราพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ของเรา บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบ และลงโทษกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย

นอกจากนี้ Meta ยังใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Meta ประกอบด้วย

  • ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta
  • ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง
  • ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ
  • จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
  • ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ

ตามที่ได้กล่าวสรุปไว้ในรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2566 Meta ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปผ่านการดำเนินงานเชิงรุกด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 Meta ยังได้ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น โดย 95.3% เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับผ่านการดำเนินงานเชิงรุกโดยเทคโนโลยี AI