การทำ “ข่าวสงคราม” ในยุคโซเชียลมีเดีย

เฟกนิวส์
ภาพจาก : freepik
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ตั้งแต่มีสมาร์ทโฟน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเราก็เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับสำนักข่าวที่ต้องก้าวให้ทันกระแสโลก พร้อมกับการเปิดรับข้อมูลจากช่องทางใหม่ ๆ อย่างโซเชียลมีเดีย

รูปหรือคลิปเหตุการณ์ในสงครามฮาสาส-อิสราเอลที่ถูกโพสต์ขึ้นบนโลกออนไลน์ กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญให้สำนักข่าวใช้ในการวิเคราะห์และปะติดปะต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในยุคนี้ ที่ไม่มีสำนักข่าวไหนอยากส่งนักข่าวลงไปเสี่ยงตาย

พฤติกรรมการเสพข่าวที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำนักข่าวต้องพึ่งพาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะมีความสด ใหม่ ทันเหตุการณ์มากกว่ารอรายงานจากแหล่งข่าวในพื้นที่

หากเป็นสมัยก่อน กว่าเราจะได้เห็นภาพข่าวก็ต้องรอหลังการปะทะสิ้นสุดลง แต่เดี๋ยวนี้พอเกิดอะไรขึ้น ก็มีคนพร้อมจะไลฟ์สดทันที เผลอ ๆ ระหว่างวิ่งหลบระเบิดก็ยังมีการไลฟ์สดไปด้วย ทำให้สำนักข่าวต้องเร่งหาข้อมูลมานำเสนอหากไม่อยากเสียฐานผู้ชม

แต่ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลที่เอามาจากโลกออนไลน์ จะเป็นข้อมูลหรือภาพเหตุการณ์จริง ไม่ใช่ภาพเก่าหรือภาพที่ใช้ AI ตัดต่อมาอีกที

เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นผู้ส่งต่อ “เฟกนิวส์” เสียเอง สำนักข่าวหลายแห่งจึงลงทุนจัดให้มีทีมพิเศษเพื่อวิเคราะห์แหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของข้อมูลออนไลน์ก่อนเผยแพร่

เช่น CBS News ตั้งทีม “CBS News Confirmed” ขึ้นมา เพื่อศึกษาหลักฐานหรือข้อมูลที่ดึงมาจากโลกออนไลน์โดยเฉพาะ หรือ BBC ก็มีทีม “BBC Verify” ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน

การจัดให้มีทีมลักษณะนี้ขึ้นกลายเป็นเทรนด์ของสำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุระเบิดโรงพยาบาลในกาซ่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่สำนักข่าวหลายแห่งทั้ง CNN AP Washington Post และ New York Times ต้องอาศัยทีมเฉพาะกิจในการวิเคราะห์ที่มาของข้อมูลต่าง ๆ อย่างหนัก

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคลิปหรือภาพเหตุการณ์จำนวนมากถูกอัพโหลดขึ้นโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก หลายอันกลายเป็นไวรัลก่อนจะพบว่าเป็นภาพตัดต่อ

เช่น คลิปเบลล่า ฮาดิด นางแบบชื่อดัง ออกมาสนับสนุนการโจมตีของฮามาส หรือคลิปศพกระดิกตัวได้ รวมถึงรูปนักแสดงชาวปาเลสไตน์ที่หายดีเป็นปลิดทิ้ง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้หนึ่งวันยังนอนบาดเจ็บสาหัสในโรงพยาบาล

ทั้งสามเรื่อง คือ เฟกนิวส์ทั้งหมด อย่างคลิปของเบลล่า ฮาดิด เป็นการใช้ AI ตัดต่อเสียงตอนขึ้นรับรางวัลในงานแห่งหนึ่ง หรือคลิปศพขยับตัวได้ ก็เป็นคลิปเก่าของนักกิจกรรมที่เดินประท้วงในอียิปต์ ในปี 2013 ส่วนภาพนักแสดงที่หายจากบาดเจ็บ ความจริงแล้วเป็นนักแสดงคนละคนกัน และภาพที่นอนอยู่โรงพยาบาลก็เป็นภาพที่ถ่ายก่อนเกิดสงครามด้วย

เจมส์ ลอว์ บรรณาธิการของ Storyful สตาร์ตอัพที่ก่อตั้งในปี 2009 เพื่อช่วยวิเคราะห์ที่มาและความน่าเชื่อถือของข้อมูลออนไลน์บอกว่า หลายคนคิดว่าเฟกนิวส์ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ AI ตัดต่อ แต่ความจริงแล้วที่เป็นไวรัลและทำให้คนเชื่อกันมาก ๆ คือ คลิปเก่าเอามาเล่นใหม่ เพื่อทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเหตุการณ์ล่าสุด หรือไม่ก็เป็นภาพจากวิดีโอเกม ที่ดูเหมือนจริงมากจนคนเชื่อ

การใช้ซอฟต์แวร์แผนที่ ภาพถ่ายจากดาวเทียม กล้องวงจรปิด คลิปภาพและเสียงจากหลาย ๆ แหล่งมาปะติดปะต่อกันของทีม Storyful และทีมของสำนักข่าวเอง ช่วยให้กองบรรณาธิการเห็นลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น เห็นลำดับปฏิบัติการโจมตีวันแรกของกลุ่มฮามาส หรือการโต้กลับของกองทัพอิสราเอลในกาซ่า

อย่างไรก็ตาม ถึงการใช้ข้อมูลออนไลน์จะช่วยลดความเสี่ยงของนักข่าวภาคสนาม แต่ทีมวิเคราะห์ข้อมูล แม้จะนั่งอยู่ในห้องแอร์ห่างไกลจากพื้นที่สงคราม ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจ เพราะการที่ต้องนั่งดูภาพหรือคลิปเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากสงครามทั้งวัน ก็มีผลให้เกิดแผลทางใจ หรือ vicarious trauma ซึ่งเกิดจากการต้องฟังหรือรับรู้ประสบการณ์อันขมขื่นของคนอื่นได้เช่นกัน