อัตราการว่างงานของประเทศไทย ต่ำจริงหรือไม่ ?

อัตราว่างงาน
ภาพจาก : freepik
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เรามักใช้ตัวเลขเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เหล่านั้น ซึ่ง ณ ที่นี้ผมจะขอหยิบประเด็นเรื่องตัวเลขของอัตราการว่างงานในประเทศไทยมาพูดคุยให้เห็นกันครับ ในบางครั้งตัวเลขที่เราเห็นอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์ที่แท้จริงและควรจะถูกมองให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น

หากเรามองถึงตัวเลขของอัตราการว่างงานในประเทศไทยในไตรมาส 2/2566 คิดเป็นอัตราการว่างงานเพียง 1.1% เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอัตราการว่างงานในประเทศอื่น ๆ อย่างประเทศอเมริกาที่มากถึง 3.8% ประเทศจีนที่มีอัตราว่างงานถึง 5% หรือจะเป็นอย่างประเทศเยอรมนีที่มีการคาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายนจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% จากเดิมในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 5.6%

ตัวเลขเหล่านี้อาจสร้างความเข้าใจให้เราได้ว่า “สถานการณ์การจ้างงานของประเทศไทยดีกว่าประเทศอื่น ๆ” หรือ “เศรษฐกิจในไทยกำลังมีการฟื้นตัว” ซึ่งในทางกลับกันสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจในประเทศไทยกลับตรงกันข้ามกับตัวเลขของอัตราการว่างงาน

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้อาจจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยในเชิงทางปฏิบัติ ซึ่งผมมองว่าหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ข้อมูลอัตราการว่างงานไม่ตรงกับความเป็นจริงก็คือความผันผวนในกฎหมายและนโยบายในการจัดหางาน

ยกตัวอย่างในบางกรณีที่อาจจะมีบางบริษัทที่ไม่ได้ลงทะเบียนการจ้างงานของลูกจ้างในฐานข้อมูลของภาครัฐ หรือหากจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คือการจ้างงานแบบ “นอกระบบ” จึงทำให้ประชากรบางกลุ่มในประเทศไทยขาดการติดตามจากภาครัฐ ส่งผลให้ลูกจ้างเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในประกันสังคม เป็นผลทำให้ข้อมูลทางตัวเลขการจ้างงานที่เกิดขึ้นนั้นดูต่ำเกินความเป็นจริงและสร้างผลกระทบต่อสถานการณ์การว่างงานที่ทำให้ดูน้อยลง

อีกปัญหาหนึ่งคือรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปในประเทศไทย ที่ลูกจ้างในประเทศไทยนิยมมารับงานด้านฟรีแลนซ์มากยิ่งขึ้น เพราะด้วยจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ลูกจ้างหลายคนจึงอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนหารายได้ให้มีหลากหลายช่องทาง แต่บางครั้งงานเหล่านี้มักไม่มีความมั่นคงเพราะผู้คนจะเลือกรับงานมากกว่าเดิม และมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพอใจในรายได้ที่ได้รับมา

ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุด การแก้ไขปัญหาตัวเลขของอัตราการว่างงานอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และต้องใช้ความร่วมมือในหลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน แต่เพื่อให้ประชากรไทยมีโอกาสทำงานที่มั่นคงและมีคุณภาพ ภาครัฐควรจะต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ให้ครอบคลุมทั้งการปรับปรุงของระบบลงทะเบียนการจ้างงาน การสนับสนุนการสร้างงานที่มั่นคง การให้ความสำคัญกับรายได้ของลูกจ้าง และการสนับสนุนความรู้และทักษะที่จำเป็นในตลาดของประเทศไทยในอนาคต