มองสองมุม “โดนบิด” ปรากฏการณ์ถอนเงินจาก TikTok ไม่ได้

TikTok เพิ่มฟีเจอร์โพสต์ข้อความ คล้าย “Stories”
Photo by Wakil Kohsar / various sources / AFP

ชวนมองสองมุม ผู้ค้า TikTok ถอนเงินไม่ได้หลายล้านบาท โดนปิดบัญชีร้านค้า กระทบผู้ประกอบการรายย่อยหมุนเงินไม่ทัน เผยแนวทางจัดการ สร้างช่องไขว้ หวั่นการซื้อขายบัญชี TikTok ปลอมระบาด

ในช่วงหลายสัปดาห์ มานี้มีปรากฏการณ์ที่เหล่าผู้ค้าหรือผู้ประกอบการณ์อีคอมเมิร์ช ที่ใช้แพลตฟอร์ม TikTok โดนปิดช่อง และถอนเงินจาก TikTok ไม่ได้ บ้างก็เรียกว่า “โดนบิด” จาก TikTok บางรายมียอดขายสูงหลักล้านบาท แต่ไม่สามารถถอนเงินได้และถูกระงับบัญชีไปอีกด้วย ทำให้เกิดการเลิกไลฟ์ขายของบนแพลตฟอร์มดังกล่าวตามมา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์” ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ SOdAPrintinG.com ผู้ผลิตและผู้ค้าสินค้าประเภทของขวัญ เสื้อผ้า และเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shopter เพื่อเป็นแหล่งรวมสินค้าลิมิเต็ดของครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ค้าขายบนแพลตฟอร์ม TikTok มายาวนาน และเคยมีประสบการณ์โดนปิดช่อง และถอนเงินไม่ได้หลายหมื่นบาท ที่จะมาแบ่งปันมุมมอง

ปรากฏการณ์ โดนบิด TikTok

ดร.ธีรศานต์” กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่องทางการไลฟ์ หรือบัญชีผู้ค้า TikTok Shop ถูกระงับมักเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎของแพลตฟอร์มเอง บ่อยครั้งเกิดจากการไลฟ์ขายของ หรือการวางขายของที่ไม่เป็นไปตามกฎ เช่น การระบุน้ำหนักสินค้าผิด การขายสินค้าผิดกฎหมาย

การผิดกฎการไลฟ์ เช่น การแต่งกายวาบหวิว การไลฟ์ขายหวยใต้ดิน ขายของปลอม ขายสินค้าแบบโฆษณาเกินจริง เป็นต้น เมื่อผิดกฎ ช่องโดนปิด เงินที่อยู่ในตระกร้าขายสินค้าก็จะโดนยึดไปด้วย

“อีกส่วนที่คิดว่าเป็นผล คือ การอ้างถึงแพลตฟอร์มอื่น หรือโชว์ลิงก์ไปที่แพลตฟอร์มอื่น อย่างการโชว์คิวอาร์โค้ดให้สแกนเพื่อไปที่เว็บไซต์อื่นอาจทำให้โดนปิดไลฟ์ได้ เป็นไปด่าระบบมองว่าเป็นการดึง Traffic ออกไปจากแพลตฟอร์ม”

ปกติ TikTok จะให้คะแนนช่องหรือบัญชีผู้ขายไว้ 24 คะแนน หากผิดกฎ หักทีละ 8 คะแนน ดังนั้นหากโดนหักสามครั้งก็โดนปิดช่องแล้ว ปัจจุบันหักครั้งละ 12 คะแนน ยิ่งโดนปิดช่องง่าย

ผู้ค้าหลายรายจึงใช้วิธีเปิดบัญชีหรือช่องสำรองไม่น้อยกว่า 3 ช่อง และทำการไขว้กัน ไลฟ์สลับกัน เพื่อให้รู้ว่าเป็นร้านเดียวกัน เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น

ถ้าเงินโดนยึดไป แต่ถ้ามั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ผิดก็สามารถอุทรณ์ได้ แต่ใช้เวลานาน ผู้ค้าหลายคน ต่างจังหวัดจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อหมุนธุรกิจ บางคนต้องไปกู้นอกระบบมาหมุนเพราะคิดว่าจะได้เงินจากติ๊กต๊อกแน่ ๆ แต่พออุทธรณ์นาน หรือไม่ได้เลยก็อาจเจ๊ง

“ช่องสำรองของผมก็เคยโดนปิดขณะไลฟ์ จำนวนเงินหลายหมื่น ใช้เวลาอุทธรณ์นานกว่า 2 เดือนถึงได้คืน แต่ถ้าเราดูสถานการณ์ปัจจุบันเราจะเห็นว่า ผู้ค้ารายย่อยจำนวนเป็นต้องใช้เงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ ซื้อมาขายไป ดังนั้นเมื่อเห็นยอดขายแล้วมั่นใจว่าจะถอนได้ อาจมีการกู้เงินจากแหล่งอื่นเพื่อนำมาสต๊อกสินค้าหมุนเวียนต่อ แต่ถ้าโดนปิดช่องกว่าจะอุทธรณ์คืนได้ก็เกิดปัญหาแล้ว ธุรกิจเจ๊งได้เลย”

นอกจากนี้ บางช่องยังใช้วิธีการขายแบบระบบนายหน้า เรียกว่าติดตระกร้า คือ เอาของจากร้านค้าอื่น ๆ มาวางขายหน้าช่อง เขาก็จะได้ส่วนแบ่งจากการช่วยขาย ซึ่งบางครั้งคนที่ใช้วิธีนี้แล้วทำผิดกฎการไลฟ์ โดยเฉพาะการ “โฆษณาเกินจริง” จะโดนปิดช่องก่อน แล้วทางแพลตฟอร์มจะเตือนไปยังร้านค้าเจ้าของสินค้าว่ามีคนที่นำสินค้าไปช่วยขายนั้นทำผิดกฎ อาจทำให้ร้านที่ไม่ได้ทำผิดอะไรมีปัญหาไปด้วย

มองสองมุม

ในมุมหนึ่ง การมาอาศัยแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ต้องศึกษากฎระเบียบให้ดี รอบด้าน แม้แต่การถูกตรวจจับว่าผิดต้องอุทธรณ์ก็จะมีหุ่นยนต์ หรือ (บอต) คอยให้คำตอบ ซึ่งหลายครั้งเราก็ต้องอ่านอย่างละเอียด เตรียมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้พร้อมไว้ก่อน

อีกมุมหนึ่ง ก็เข้าใจว่า TikTok มีความเข้มงวดจริง และมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบแทบทุกวัน การใช้อัลกอริทึ่มตรวจจับก็ค่อนข้างละเอียดหยุมหยิม จับตั้งแต่การแต่งตัว ของที่โชว์ รวมถึงคำพูดน้ำเสียง การถูกปิดช่องร้างความเสียหายให้ธุรกิจเจ๊งได้เลย

แม้กระทั่งเงื่อนไขแพลตฟอร์มเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายต่อตระกร้าเพิ่มขึ้น สมมุติว่า เมื่อก่อนถ้ามีคนมาซื้อของ 150 บาทได้ส่งฟรี แต่ขยับขึ้นมาเป็น 250 ในวันต่อมา ทำให้หลายร้านต้องทำยอดตามเพื่อให้ได้ส่งฟรี และมีการปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เร็วมาก ผู้ค้าจึงต้องปรับตัวตามให้เร็ว ผู้ค้ารายใหม่จึงเริ่มเข้ามาแข่งขันได้ยากขึ้น และง่ายต่อการถูกระงับบัญชี

หวั่นมิจฉาชีพปลอมบัญชี-ลวงค้าบัญชี ระบาด

“ดร.ธีรศานต์“ กล่าวด้วยว่า ความเข้มงวดและการปิดช่องอย่างรวดเร็วของ TikTok ให้เกิดการซื้อขายบัญชีอย่างกว้างขวาง มีการไล่ซื้อบัญชีผู้ใช้ที่มีผู้ติดตาม 1,000 คน และมีเงื่อนไขอื่นที่สามารถ “ติดตระกร้า” หรือสามารถไลฟ์ขายสินค้าของได้ มาเก็บไว้เป็นบัญชีสำรอง ไม่เช่นนั้นผู้ค้าต้องใช้เวลาในการปั้นบัญชี สร้างคอนเทนต์ เพิ่มผู้ติดตตามใหม่ ซึ่งจะเสียเวลาและโอกาสมาก

หลายร้านค้าเลือกที่จะเอาบัญชีญาติพี่น้อง คนในครอบครัวมาสร้างเป็นบัญชีสำรอง เพื่อป้องกันปัญหาการโอนเงินออกภายหลัง

อย่างรก็ตาม การไล่ซื้อบัญชีที่ที่พร้อมขายของได้มาสำรองไว้ เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด แต่สิ่งที่ตามมาคือมีการหลอกลวงซื้อขาย มีบัญชี Bot ที่ปลอมแปลงตัวเลขก็เสี่ยงผิด เป็นปัญหาเรื่องมิจฉาชีพแพร่ขยายตามมา