ดีอีผนึกหัวเว่ย ดึงพันธมิตรลงทุน “AI Hub” ในไทยเสริมแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัล

ดีอีลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาด้านดิจิทัลกับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ย้ำเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-กำลังคน 4 เสาหลัก รองรับการปฏิวัติเอไอ พร้อมดึงพันธมิตรการค้าของหัวเว่ยเข้าสู่การพัฒนาดิจิทัล-เอไอฮับ

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวในงาน PIONEER AI FUTURE WITH HUAWEI CLOUD ‘Huawei Cloud AI Summit Thail and 2023 ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับความท้าทายในปีหน้าถึงปี 2570 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะที่สามของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลแล้ว

และโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์-เอไอ จำเป็นยิ่งต่อเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตประจำวัน จึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น โดยมีนโยบาย Cloud First เป็นตัวนำ

“รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบาย Cloud First ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทั้งมีการเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Hub) ซึ่งยังคงต้องการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์-เอไออยู่มาก จึงต้องแสวงหาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้กันจากหลายฝ่าย”

"ดีอี"ผนึก"หัวเว่ย" ดึงพันธมิตรลงทุน "AI Hub" ในไทยเสริมแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัล

การร่วมลงนามกับหัวเว่ยในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเสมอภาคทุกฝ่ายทั้งไทย-จีน โดยมี 4 ด้านสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนา

1.แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อสร้างเอไอเฉพาะสำหรับไทย เป็นโครงสร้างสำคัญในอนาคต

2.สร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของรัฐบาลและองค์ต่าง ๆ ในไทย

3.เทรนทักษะดิจิทัลให้สูงขึ้น ถ้าเทคโนโลยีไปไกล คนไม่พร้อมเป็นปัญหาอนาคต

4.ผนึกพันธมิตรการค้าของหัวเว่ย ร่วมผลักดัน พบปะผู้ประกอบการ แลกเปลี่ยนและสร้างรากฐานเทคโนโลยี ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ โดยการเข้าสู่ระยะสามของยุทธศาสตร์ชาติ ในปี 2570

ด้านนายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้ำถึงพันธกิจของหัวเว่ย คลาวด์ ในการขับเคลื่อนการใช้งานเทคโนโลยีระบบคลาวด์และ AI ในประเทศไทยว่า ยังคงมุ่งมั่นต่อพันธกิจ “ในประเทศไทย เพื่อประเทศไทย” พร้อมสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาดิจิทัลของประเทศตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล หัวเว่ย คลาวด์ จึงยังคงมุ่งลงทุนในการสร้างอีโคซิสเต็มคลาวด์และเสริมประสิทธิภาพในประเทศ โดยการสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐาน AI สำหรับรัฐบาลและองค์กร หัวเว่ย คลาวด์ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลของไทยผ่านเทคโนโลยี AI ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้งาน AI อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ พร้อมสร้างประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทยและส่งเสริมความก้าวหน้าทางดิจิทัลของประเทศ”

ภายในงานประชุมดังกล่าว หัวเว่ย คลาวด์ ยังเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรจีนและไทย เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี AI แอปพลิเคชัน และความเชี่ยวชาญจากประเทศจีน โดยใช้ประสบการณ์การทำงานในระดับโลกกว่า 170 ประเทศและภูมิภาค

หัวเว่ย คลาวด์ ยังได้ให้ข้อมูลในเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมระดับโลกและภูมิภาค ด้วยเทคโนโลยีและโซลูชันที่ทันสมัย พร้อมเป็นพันธมิตรที่เหมาะสมสำหรับองค์กรไทยที่ต้องการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกและองค์กรจีนที่ต้องการเข้าสู่ตลาดไทย

ทั้งในงานประชุมครั้งนี้ หัวเว่ย คลาวด์ ได้นำเสนอโซลูชั่นและโมเดล AI ที่มีความเฉพาะตัวสำหรับประเทศไทย ซึ่งรวมถึงโมเดลเอไอสำหรับภาษาไทย สภาพอากาศ และรัฐบาล รวมถึงโซลูชั่น AI สำหรับภาคการเงินและภาคค้าปลีก

สำหรับโมเดลภาษาไทยนั้น ผ่านการฝึกฝนด้วยคลังข้อมูลของ AI ในภาษาไทย ผสานความรู้ ความเข้าใจในอุตสาหกรรมของหัวเว่ยที่สะสมมากว่าสามทศวรรษ ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยการเรียนรู้ข้อมูลภาษาไทยจำนวนมาก การพัฒนานี้ช่วยกำจัดอุปสรรคในการเข้าถึงโมเดลพื้นฐาน ทำให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนจากผู้ใช้ AI เป็นผู้สร้าง AI ได้

ในด้านอุตุนิยมวิทยา หัวเว่ย คลาวด์ ได้ร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย พัฒนาโมเดลพยากรณ์อากาศ ผานกู่ (Pangu) สำหรับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยวของไทยในเชิงลึกยิ่งขึ้น

โมเดลนี้เหนือกว่าการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข (numerical weather prediction – NWP) ที่ได้รับการพัฒนาล่าสุด โดยความเร็วในการพยากรณ์มีหลายระดับและรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา การพยากรณ์เส้นทางของพายุไต้ฝุ่นในช่วง 10 วันข้างหน้า ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง แต่ด้วยโมเดลพยากรณ์อากาศ ผานกู่ สามารถทำได้ภายในเวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น

สำหรับภาครัฐ หัวเว่ย คลาวด์ นำเสนอความอัจฉริยะในกระบวนการทำงานของรัฐบาลและภาคการปกครองเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การรับรู้ ความเข้าใจไปจนถึงการจัดการและการตัดสินใจ คำร้องขอของประชาชนจะได้รับการมอบหมายโดยอัตโนมัติ และจัดการได้ตลอดเวลา ทำให้รัฐบาลให้บริการที่มีคุณภาพสูงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องขาดแคลนบุคลากร

ด้านความสามารถของบุคลากรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี AI ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ในงานประชุมครั้งนี้ หัวเว่ย คลาวด์ กระทรวงดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคม AI องค์กรธุรกิจและพันธมิตรได้ร่วมกันเปิดตัว Cloud & AI Community Thailand เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี AI

ด้วยเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างบทบาทของประเทศไทยสู่ AI ระดับโลก ด้วยโซลูชั่น AI ที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมอันแข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่กว้างขวาง และการบริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยม หัวเว่ย คลาวด์ พร้อมจะสนับสนุนประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลาง AI ที่สำคัญในภูมิภาค ผ่านการลงทุนต่อเนื่องทั้งในอีโคซิสเต็มและอุตสาหกรรมในประเทศ พร้อมมุ่งมั่นสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงของประเทศไทย