ดีอีกังวลเนื้อหา พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม ฉบับใหม่ ไม่ทันสมัย

พื้นหลัง: Canva

ดีอี-วธ. หารือแนวการทบทวนเนื้อหา (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม ระบุนิยามใหม่ การจัดเรต ระบุประเภทของเกมและภาพยนตร์จากเอไอ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมตั้งคณะทำงานปลดล็อกกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรม เกม-ภาพยนตร์

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) กล่าวในวาระการเข้าพบนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหารือแนวการทบทวนเนื้อหาของ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาพยนตร์และเกม

“สืบเนื่องจากการหารือแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยร่วมกับผู้บริหารภาคเอกชนเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงดีอีได้รับทราบถึงปัญหาและความกังวลของคนในภาคอุตสาหกรรม”

โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาของ (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม ฉบับใหม่ที่ กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการยกร่างไว้ จึงเป็นที่มาของการหารือระหว่างกระทรวงดีอี และกระทรวงวัฒนธรรม ในวันนี้ เพื่อขอเสนอให้มีการพิจารณาทบทวนเนื้อหาของ (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม ฉบับใหม่ ให้มีความทันสมัยและดำเนินงานครอบคลุมในทุกมิติ อีกทั้งเป็นไปในรูปแบบของการส่งเสริมและกำกับผู้ประกอบการไทยให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับข้อหารือต่าง ๆ ประกอบด้วยการให้คำนิยามและการระบุประเภทของเกมและแอนิเมชั่น การปรับรูปแบบการกำกับหรือการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา (การจัดเรตติ้ง) เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ การหาแนวทางส่งเสริมการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเพื่อขยายโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเกมผ่านกลไกทางการเงิน ทั้งในรูปแบบกองทุนหรือรูปแบบอื่น

การพิจารณาความเป็นไปได้ของการจดแจ้งผ่านคณะกรรมการแทนระบบการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ และการกำหนดโทษที่เหมาะสมกับฐานความผิดตาม พ.ร.บ.

นอกจากนี้คำจำกัดความของสื่อโฆษณาควรครอบคลุมข้อมูลที่ผ่านระบบดิจิทัล รวมถึงเนื้อหาที่เผยแพร่ในลักษณะการเชิญชวนผ่าน Live Streaming ขณะที่แอนิเมชั่นรูปแบบอวตาร (Avatar) ควรครอบคลุมอยู่ในประเภทภาพยนตร์

ขณะที่ภาพยนตร์หรือภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เกิดจาก Generative AI รวมถึงภาพอนาจารและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ยังไม่ครอบคลุมใน พ.ร.บ. ซึ่งอาจต้องทบทวนเรื่องการผลิตภาพยนตร์ และคำจำกัดความต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงคำจำกัดความของร้านเกมควรครอบคลุมถึงร้านเกมออนไลน์หรือร้านเกมในโลกดิจิทัล เช่น ห้องแชต หรือห้องเกมด้วย

“อุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชั่นถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก อีกทั้งเกมยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ดังนั้นทั้ง 2 กระทรวงจึงมีความเห็นตรงกันว่าให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน”

“กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกระทรวงดีอี โดยดีป้า ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้อง และสอดคล้องไปกับแผนงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” รมว.ดีอีกล่าว

ด้านนายเสริมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมเห็นพ้องที่จะให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกันและถูกต้อง ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจะมุ่งส่งเสริมการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมเกม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากล