สามารถ โชว์แผนธุรกิจปี’67 ปักหมุดรายได้รวม 13,000 ล้านบาท

สามารถ samart

สามารถคอร์ปอเรชั่น กางแผนธุรกิจปี 2567 แสวงหาเงินลงทุน-พาร์ตเนอร์ เร่งขยายบริการด้านเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ตั้งเป้ารายได้รวม 13,000 ล้านบาท โตจากปีก่อนหน้า 30%

วันที่ 30 มกราคม 2567 นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ปี 2567 เป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวจากภาวะสงครามและเงินเฟ้อ อีกทั้งงบประมาณภาครัฐที่ยังตึงตัว และการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น

ในปีนี้กลุ่มสามารถจึงเน้นที่การสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนผ่าน 3 กลยุทธ์ ดังนี้

1. การนำเสนอ Outsourcing Business Model และการแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เพื่อลดภาระการใช้งบประมาณภาครัฐและเพิ่มโอกาสในการได้งาน

2. การแสวงหาความร่วมมือในรูปแบบใหม่กับ Strategic Business Partner เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขัน

3. การเร่งขยายบริการด้านเทคโนโลยีที่บริษัทมีประสบการณ์และความชำนาญไปสู่ฐานลูกค้าใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงในระยะยาว ด้วยความเชื่อมั่นในโอกาสและศักยภาพของบริษัท

“กลุ่มสามารถตั้งเป้ารายได้รวมในปีนี้จำนวน 13,000 ล้านบาทโดยประมาณ เติบโตกว่า 30%”

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทสามารถ ประกอบด้วย 3 สายธุรกิจสำคัญ ได้แก่ สายธุรกิจ Digital ICT Solution, สายธุรกิจ Digital Communications และสายธุรกิจ Utilities & Transportation รวมถึงมี 4 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น, บมจ.สามารถเทลคอม, บมจ.สามารถดิจิตอล และ บมจ.สามารถเอวิเอชั่น

สายธุรกิจ Digital ICT Solution

นางสาวโชติกา กำลูนเวสารัช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเทคโนโลยีประยุกต์ด้าน ICT บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปีที่ผ่านมากลุ่มสามารถเทลคอม (SAMTEL) ได้มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 2,300 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่างานในปัจจุบันรวมประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยในปี 2567 บริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ 6,000 ล้านบาท เติบโต 30%

โดยปีนี้ SAMTEL มีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นการนำโซลูชั่น และเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการดำเนินการในหน่วยงานลูกค้าทั้งภาครัฐ และเอกชน ตอบรับกระแส Digital Transformation ที่องค์กรทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ

สำหรับโซลูชั่นที่กลุ่ม SAMTEL เป็นผู้เชี่ยวชาญ และดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการต่อยอดนำเสนอโซลูชั่นเพิ่มเติม พร้อมกับพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลโซลูชั่นด้านการเงิน การธนาคาร (Digital Banking Solutions) โซลูชั่นบริหารจัดการองค์กร (Organizational Management Solutions) เช่น ERP (Enterprise Resource Planning), EAM (Enterprise Asset Management), HCM (Human Capital management) หรือ CRM (Customer Relation Management) เป็นต้น

ตลอดจนการนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น Smart CCTV ด้วย และที่สำคัญกลุ่ม SAMTEL ยังพร้อมนำเสนอโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อย่าง Solar Energy, โซลูชั่นเฝ้าระวังมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม หรือระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อความยั่งยืนของสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศชาติอีกด้วย

สายธุรกิจ Utilities & Transportations

นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจ Utilities and Transportations บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในปี 2567 กลุ่มธุรกิจนี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 23% ด้วยโอกาสทางธุรกิจหลายด้าน

โดยเฉพาะจาก บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่น ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาภายใต้ CATS คาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 30% จากปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค

ประกอบกับรัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุน ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ล่าสุดได้มีการเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติเสียมราฐอังกอร์แห่งใหม่ ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุดถึง 7 ล้านคน และภายในปีนี้จะมีการเปิดสนามบินนานาชาติดาราสาครอีกด้วย

ส่วนธุรกิจด้าน Power Construction & Services ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานีและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยบริษัทเทด้าและทรานเส็ค มีงานในปัจจุบันรวม 4,000 ล้านบาท และมีแผนที่จะเข้าประมูลในปีนี้อีกกว่า 3,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการ Direct Coding หรือการพิมพ์รหัสลงบนบรรจุภัณฑ์ ตั้งเป้ารายได้ 981 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% จากการเปิดโรงงานเบียร์แห่งใหม่และการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิม เพื่อรองรับปริมาณการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากนโยบาย Free VISA และการขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิง

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังมีแผนที่จะขยายฐานธุรกิจบริการระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ หรือ Direct Coding ไปสู่การจัดเก็บภาษีสินค้าอื่น ๆ เช่น ยา และน้ำมันที่ใช้ภายในประเทศอีกด้วย

สายธุรกิจ Digital Communications

นายสุภวัส พรหมวิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ลัคกี้ เฮง เฮง กล่าวว่า ธุรกิจ Digital Trunk Radio มีการเติบโตอย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา โดยมีการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุลูกข่ายและค่าใช้บริการ Air Time เพิ่มขึ้น 300% โดยในปี 2567 บริษัทมีแผนการขยายฐานผู้ใช้บริการให้กว้างขวางและครอบคลุมหน่วยงานผู้ให้บริการประชาชน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 120,000 ราย

ด้านธุรกิจสายมูที่มีโอกาสเติบโตสูง บริษัท Lucky Heng Heng ซึ่งเป็นบริษัทน้องใหม่ของกลุ่มสามารถ ตั้งเป้าเป็นผู้นำในธุรกิจ Mutech ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยบริการครบวงจร 4 รูปแบบ คือดูดวงออนไลน์ภายใต้ Horoworld ผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ที่เป็นศูนย์รวมนักพยากรณ์ในศาสตร์ต่าง ๆมากกว่า 200 ท่าน พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง

ทำบุญออนไลน์ภายใต้ Thai Merit ปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มการทำบุญสำหรับวัดต่าง ๆ เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย และอีกกว่า 100 วัดชื่อดังในประเทศไทย, บริการ Mu Commerce จำหน่ายสินค้าของวัตถุมงคลต่าง ๆ และ Muketing หรือ Marketing Agency สายมูให้กับลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ในกลุ่มธนาคาร, ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าขยายบริการสู่กลุ่มอื่น ๆ

นอกจากนี้จะยังมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่ของบริษัทในเครือ เช่น Samart Digital Media และ ISPORT ในปีนี้อีกด้วย

นายวัฒน์ชัย กล่าวด้วยว่า ปีนี้มีปัจจัยบวกหลายด้าน ประกอบด้วยความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจและภาระต้นทุนทางการเงินที่ปรับลดลง, ความสามารถของทีมงานและโซลูชั่นที่ผ่านการรับรอง, โอกาสและช่องทางในการขยายฐานธุรกิจใหม่ ๆ ที่เล็งเห็นอย่างชัดเจน จึงเชื่อว่า ปี 2567 กลุ่มสามารถจะกลับมาเติบโตด้วยรายได้ที่มั่นคง และสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างคุ้มค่า