รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ พร้อมให้บริการนำเที่ยวรอบอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาแล้ว

เปิดตัวรถบัสไฟฟ้า “ไร้คนขับ” คันแรกของไทย เริ่มให้บริการนำชมอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาฟรีแล้ววันนี้ ถึง ก.ค. 2567 เช็กจุดขึ้นรถผ่านแอป 5G Auto Bus ด้าน อว. ขานรับวิจัยต่อยอด เตรียมโครงสร้างผลิตกำลังคนรองรับอุตสาหกรรม

วันที่ 31 มกราคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มีสองส่วน คือ เรื่องยานยนต์ไร้คนขับและรถอีวี ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ แม้โครงการรถบัสไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับ 5G นี้ จะได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. และภาคเอกชน

ซึ่งได้มีส่วนร่วมกับภาคการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาควิชาการในการวิจัยและพัฒนาเพื่อหาโอกาสในการนำเทคโนโลยีนี้ไปต่อยอดทางธุรกิจ

“ในส่วนของ อว. เราจะช่วยในเรื่องการเตรียมกำลังคนให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรมอีวี และยานยนต์ไร้คนขับ เราไม่ได้วางเป้าหมายว่าไทยต้องมีกำลังคนด้านนี้เท่าไหร่ แต่เรามีการร่างหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ ในระดับอุดมศึกษา ป.ตรี-เอก ที่จะเข้ามาเป็นกำลังในการวิจัย พัฒนา และผลิต เทคโนโลยีเหล่านี้ อีกส่วนคือในระดับเทคโนโลยีราชมงคล ที่จะเน้นการซ่อมบำรุงดูแลรถอีวี

เราจะเป็นผู้วางโครงสร้างและกลไกให้การพัฒนากำลังคน ด้วยอีวีเป็นอุตสาหกรรมที่ยังต้องการคนมาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการจับคู่เด็กนักศึกษา มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนเลย อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ”

รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ เทคโนโลยี 5G คันแรกของประเทศไทย เป็นโครงการนำร่องเปิดทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกบนถนนสาธารณะ ให้บริการบริเวณรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (บึงพระราม) เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2567 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2567

โดยโครงการรถบัสไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับ 5G นี้ เป็นผลงานจากการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ทุนจำนวน 27 ล้านบาท มอบหมายให้ ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ 5G และระบบเทคโนโลยีดิจิทัล นำองค์ความรู้ทางด้านการเชื่อมต่อระบบสื่อสารเทคโนโลยีที่เรียกว่า C-V2X หรือ Cellular Vehicle-to-Everything บนเครือข่าย 5G มาประยุกต์ใช้

ขณะที่บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด เชี่ยวชาญด้านระบบหุ่นยนต์และยานยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถโดยสาร EV ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 เดือน (พฤศจิกายน 2565-กรกฎาคม 2567)

สำหรับรถมินิบัสไฟฟ้าเคลื่อนที่อัตโนมัติ (ไร้คนขับ) เป็นรถขนาด 20 ที่นั่ง ให้บริการฟรีไม่มีการเก็บค่าโดยสาร โดยใช้บริการผ่านการสื่อสารเครือข่าย 5G กับแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้น ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเรียกรถ และจองที่นั่งได้ล่วงหน้า รวมทั้งสามารถดูตำแหน่งปัจจุบัน และเวลาที่รถจะมาถึง

ในระยะแรกจะมีการทดลองวิ่งให้บริการแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ในเส้นทางรอบบึงพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันศุกร์-วันอังคาร เวลา 09.00-17.00 น. โดยสามารถเรียกรับบริการ ผ่านแอปพลิเคชั่น “5G Auto Bus” ได้ ณ ป้ายจอดรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ 4 แห่ง รอบบึงพระราม ได้แก่ 1.ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา 2.วัดมหาธาตุ 3.วัดธรรมิกราช 4.วัดพระราม รวมระยะทางทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร

ด้านนายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท TKC ในฐานะตัวแทนในส่วนภาคเอกชน ให้สัมภาษณ์ว่า TKC ได้รับโอกาสจากทาง มจธ. ให้เข้ามาร่วมงานในส่วนของงานวิจัย (R&D) ในการดีไซน์ตัวระบบ ซึ่ง TKC มีจุดแข็งเรื่องไอที การสื่อสาร และซอฟต์แวร์ จึงใช้จุดแข็งมาพัฒนาซอฟต์แวร์ในระบบสื่อสารผ่านมือถือ 5G เพราะรถบัสจะวิ่งได้ต้องมีการสื่อสารตลอดเวลา เพื่อวิ่งตามช่องทางที่กำหนด ยอมรับว่าแรก ๆ มีข้อที่ต้องแก้ไขมากมาย เพราะเป็นรถบัสไร้คนขับและยังเป็นอีวีคันแรกในประเทศไทยด้วย

“นอกเหนือจากนี้ TKC ยังได้รับหน้าที่ทำแท่นชาร์จอีวี ร่วมกับ มจธ. ซึ่งเป็นแท่นชาร์จที่ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทำโดยฝีมือคนไทยทั้งหมด ใช้วิศวกรคนไทยล้วน ๆ จาก มจธ.และ TKC ร่วมกัน ผมเชื่อว่าเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน คือรถยนต์อีวีกึ่งไร้คนขับ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้รับโอกาส
ได้ทุนจาก กองทุน กทปส. โอกาสที่คนไทยจะได้ริเริ่มทำวิจัยออกมาเป็นโปรดักต์หนึ่งโปรดักต์แทบไม่มีเลย เพราะต้องลงทุนมหาศาล

ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ทำออกมาได้ และเป็นรถบัสอีวีไร้คนขับคันแรกของไทย ส่วนโอกาสจะขยายหรือไปต่อ เวลานี้มีกระทรวง อว.ได้มองเห็นพลังของเด็กไทย คนไทย อาจนำไปต่อยอดทำสเกลให้ใหญ่ขึ้น แล้วเป็นการสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับที่เป็นอีวี ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์แน่นอนให้มีโอกาสเติบโตได้แน่นอน” นายสยามกล่าว