“เอสเอ็มอี” ไทยต้องปรับตัวอย่างไร ในวันที่สินค้าจีนทะลักผ่าน “อีคอมเมิร์ซ”

กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ
กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ

จากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2566 ที่ชี้ว่าไทยขาดดุลการค้าจีนสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะการรับมือกับสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้ามาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของผู้ขายชาวจีนในช่วงที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Thailand e-Business Center (TeC) ในเรื่องนี้ รวมถึงแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และการทำงานของสมาคมในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยขายสินค้าในต่างประเทศได้

เปิดสาเหตุสินค้าทะลักเข้าไทย

“กุลธิรัตน์” เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าสินค้าจีนสะดวกขึ้น มาจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีผลประโยชน์กับ 11 ประเทศที่เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นจีน ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และบรูไน จากการยกเลิกภาษีนำเข้าในสินค้ากว่า 8,000 รายการ คิดเป็น 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด

“ถ้ามีการขอ Form E หรือหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้า ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ในสินค้าบางประเภทด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่ามีดีกว่าไม่มี เพราะทำให้ตลาดของผู้ประกอบการไทยกว้างขึ้น มีโอกาสเกิดการเจรจาทางการค้ามากขึ้น

แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าการนำเข้าสินค้าจีนพิเศษกว่าปกติ มาจากการที่สินค้าเข้ามาอยู่ใน Bonded Warehouse หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่เสียภาษีขาเข้า แต่การนำสินค้าออกจากโกดังก็ต้องมีการเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับในแต่ละประเทศอยู่แล้ว ไม่ได้ยกเลิก 100% อย่างในไทยก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%”

โควิดสปริงบอร์ดอีคอมเมิร์ซ

ปัจจัยที่ทำให้คนรู้สึกว่าสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าไทยมากกว่าปกติในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมาจากช่วงที่โควิด-19 ระบาด เกิดการค้าขายที่ง่ายที่สุด คือการนำสินค้าราคาถูกมาขายบนช่องทางออนไลน์ ทำให้มีผู้ขายหน้าใหม่นำสินค้าจากซัพพลายเออร์จีนมาทดลองขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำนวนมาก แน่นอนว่าผู้บริโภคชอบซื้อของถูก จึงไม่แปลกที่ความต้องการสินค้าจีนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญยังเป็นการเปิดช่องให้คนจีนเข้ามาขายสินค้าในประเทศไทยง่ายขึ้นด้วย โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ทะลักเข้าไทย คือคนขายจากจีนมากกว่า

ขณะเดียวกัน การไลฟ์ขายสินค้า (Live Commerce) ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการบริโภคสินค้าจีนมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครเอาสินค้าราคาแพงมาไลฟ์ขายดังนั้นของส่วนใหญ่จึงเป็นเสื้อผ้าหรือสินค้าราคาถูกตั้งแต่ 19 บาท ไปจนถึงหลักร้อยต้น ๆ ซึ่งโรงงานไทยที่ใช้ฝีมือ และมีขั้นต่ำในการผลิตไม่สามารถสู้ที่ต้นทุนในราคานี้ได้ แต่โรงงานจีนผลิตสินค้าส่งคนทั่วโลกจึงสามารถทำได้

“ไทยกับจีนมีการนำเข้าและส่งออกสินค้ากันเป็นปกติ การนําเข้าสมัยก่อนมีทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และลักลอบนำเข้าผ่านรถบรรทุกขนาดใหญ่ ไม่ผ่านการตรวจสอบจากกรมศุลกากร แต่ปัจจุบันการนำเข้าส่วนใหญ่ถูกกฎหมายหมดแล้ว โดยตัวแทนจำหน่ายจะนำสินค้าไปจำหน่ายผ่านห้างร้านต่าง ๆ ต่อ แต่พออีคอมเมิร์ซเข้ามา สินค้าจีนขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้นแทน”

แนะทางรอดผู้ประกอบการไทย

“กุลธิรัตน์” กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจีนได้ 2 ทาง คือ 1.เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า สร้างจุดขายให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งในตลาด (Unique Selling Point) และ 2.ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าต่างชาติ และหาโอกาสในการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของไทยไม่น่าจะทำให้ตลาดโตไปมากกว่านี้ได้แล้ว

“สมมุติว่าขายถั่วลิสงอบเกลือมาตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ ก็ต้องพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ปรับตัวตามความต้องการของตลาด เช่น เพิ่มรสใหม่เป็นรสหมาล่า เป็นต้น ตอนนี้มีเอสเอ็มอีไทยที่นำเข้า และส่งออกเก่ง ๆ ประมาณ 20-30% จากทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นการขยายตลาดได้จากการปรับรูปแบบการทำการตลาด ให้สื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงหาช่องทางหรือวิธีการขายใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้า เนื่องจากแต่ละช่องทางจะมีกลุ่มลูกค้าแตกต่างกันออกไป”

บทบาทและภารกิจ THECA

และในปีนี้ สมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้ร่วมมือกับ TeC, SME D Bank และ Amazon Global Selling จัดทำโครงการ “Amazon Pavilion” หรือการนำสินค้าของผู้ประกอบการไทยจำนวน 300 ราย มาขายบนแพลตฟอร์มของ “แอมะซอน” (Amazon) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซระดับโลก เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย

“เรากำลังอยู่ในช่วงของการคัดเลือกเอสเอ็มอีมาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องเป็นบริษัทที่ต้องมีความพร้อมแล้วในระดับหนึ่ง เช่น มีสินค้าที่วางจำหน่ายในต่างประเทศได้ คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2567”

นอกจากนี้ สมาคมยังมีความร่วมมือกับ InvestHK หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดมายังฮ่องกง โดยในเดือน มี.ค. สมาคม, TeC และ InvestHK จะจัดอีเวนต์ผลักดันให้สินค้าไทยออกสู่ตลาดฮ่องกงง่ายขึ้น โดย InvestHK จะช่วยผู้ประกอบการไทยในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจดทะเบียนบริษัทที่ฮ่องกง และการสนับสนุนทุนบางส่วน เป็นต้น

ความร่วมมือไทย-จีน

“กุลธิรัตน์” กล่าวด้วยว่า ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากทางการเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน เกี่ยวกับประเด็นที่สินค้าจีนเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งทางจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงพยายามที่จะผลักดันให้สินค้าไทยไปขายที่จีนมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ในช่วงหารือเรื่องการนำสินค้าไทยไปขายบน 3 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนภายในกลางปีนี้ อีกทั้งสถานทูตจีนยังทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ของไทยมาก โดยมีการเทรนนิ่งทีมงานไทยให้เข้าใจการทำอีคอมเมิร์ซ และการส่งออกมากขึ้น เพื่อพัฒนาการดำเนินงานในประเทศ รวมถึงมีการพัฒนาหลักสูตรไลฟ์เทรนนิ่งเกี่ยวกับเทรนด์อีคอมเมิร์ซ และการขายสินค้าในจีนด้วย

“เรามีการกระจายบทเรียนไปให้สมาชิกของเราได้เรียน เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของตนเอง และพยายามสร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้ประกอบการไทยในส่วนที่ทำได้ เชื่อว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการผลักดันในประเด็นนี้ไม่ต่างกัน”

ทำไม ‘จีน’ เป็นเจ้าแห่งอีคอมเมิร์ซ

นอกจากจีนจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำการค้าข้ามพรมแดนเก่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งรวมไปถึงการขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซด้วย

“กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) มองว่า ปัจจัยที่หนุนให้จีนมีความเชี่ยวชาญด้านนี้มาจาก 1.สภาพสังคมที่มีการแข่งขันตลอดเวลา ด้วยความที่จีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ทุกคนจึงมีไมนด์เซตของการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด

และ 2.ภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องอีคอมเมิร์ซเป็นอย่างมาก มีการออกนโยบาย China e-Commerce Policy และพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce) ให้มีมาตรฐานสากล ทั้งช่องทางการขายและระบบโลจิสติกส์ มีการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ด้วย หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผน จะทำให้มูลค่าอีคอมเมิร์ซของจีนในปี 2568 อยู่ที่ 46 ล้านล้านหยวน และยอดค้าปลีกออนไลน์อยู่ที่ 17 ล้านล้านหยวน

นอกจากนี้ จีนยังมีการร่างกฎหมายพื้นฐานออกมาสนับสนุนนโยบาย China e-Commerce Policy เช่น มาตรา 65 สภาแห่งรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นในระดับหรือสูงกว่าระดับอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้มาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คลังสินค้า และการขนส่ง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซแบบมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

นั่นหมายความว่า แต่ละเมืองหรือมณฑลในจีนจะมีแนวทางการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซที่แตกต่างกันตาม KPI ของตนเอง เช่น “ชิงเต่า” บุกเบิกเมืองแห่งการทำ Live Commerce สร้างยอดค้าปลีกออนไลน์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 73,470 ล้านหยวน ขณะที่เมือง “เซี่ยเหมิน” ออกแผนปฏิบัติการพัฒนาอีคอมเมิร์ซถ่ายทอดสด (ปี 2563-2565) และเป็นเมืองสาธิตอีคอมเมิร์ซระดับประเทศ

ส่วน “หางโจว” มีโครงการสร้างไลฟ์สตรีมเมอร์สำหรับการขายสินค้า 10,000 คน และ “ฉงชิ่ง” ตั้งเป้าสร้างฐานการสตรีมคอนเทนต์มากกว่า 20 แห่งในปี 2565 เป็นต้น

“การที่จีนผลักดันเรื่องอีคอมเมิร์ซตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ช่วยให้อีโคซิสเต็มของอีคอมเมิร์ซในประเทศแข็งแรงมากขึ้น เพราะแต่ละเมืองจะแข่งกันพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ออกมา และน่าจะเป็นเรื่องที่ดีหากไทยสามารถนำโมเดลการบริหารงานในลักษณะนี้มาปรับใช้ในประเทศได้”