พาณิชย์ ปั๊มจีดีพี เอสเอ็มอี 40% ของประเทศ ใน 3 ปี

นภินทร ศรีสรรพางค์

“นภินทร” วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP เอสเอ็มอีของไทยเพิ่ม 40% ให้ได้ในปี 2570 ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าเจรจาหารือผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่าย ค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ ดึงเป็นพันธมิตรในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโอกาส พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มยอดขายให้ SMEs ไทยพร้อม ยกระดับเป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ที่มีระบบบริหารจัดการที่แข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

วันที่ 22 มกราคม 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลที่เร่งดำเนินการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs และผลักดันการเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SMEs ในไทยจาก 35% เป็น 40% ภายในปี 2570 กระทรวงพาณิชย์พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด และใช้จุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาช่วยกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกมิติ

สำหรับธุรกิจค้าปลีกจะเร่งดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ นำเทคโนโลยี POS มาช่วยบริหารจัดการร้านค้า พร้อมทั้งปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้สวยงาม ขยายช่องทางการขายออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร มุ่งผลักดันอาหารไทยให้เป็น ‘Soft Power’ ของประเทศ โดยส่งเสริมร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT สร้างโอกาสทางการตลาด และเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสนิยมในการบริโภคอาหารไทยและดึงดูด คนทั่วโลกเดินทางมาลิ้มลอง สร้างรายได้ให้กับประเทศ

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้เจรจาหารือกับผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่าย ค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ คือ BJC, MAKRO และสหพัฒน์ ชวนร่วมเสริมทัพในการสร้างโอกาส และเพิ่มพื้นที่ขายให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาเพิ่มทักษะองค์ความรู้ที่จำเป็น ส่งเสริมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเสริมแกร่งเดินหน้าเป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ และใช้ ‘แฟรนไชส์’ ช่วยสร้างโอกาสขยายธุรกิจให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น

พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญรายอื่น ๆ ด้วย เช่น บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) มุ่งเป้าสร้างโอกาส และเสริมแกร่ง SMEs ไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของจังหวัด ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ให้คนในชุมชน โดยมีภาครัฐและหน่วยงานพันธมิตรให้การสนับสนุนเต็มที่

“เป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP เอสเอ็มอีของไทย จาก 35.2% เป็น 40% ภายในปี 2570 ดังนั้น ในปี 2567 กรมจึงเน้นให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด”

ร่วมมือผู้ผลิต-ค้าส่ง-ปลีกรายใหญ่

กรมร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่าย ค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท ซีพีแอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs ตลอดไปถึงร้านโชห่วยในท้องถิ่น โดยเป้าหมาย ‘ทำอย่างไรที่จะร่วมมือกันสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพให้กับธุรกิจค้า SMEs และร้านโชห่วยของไทย สามารถเติบโตด้วยความเข้มแข็งและยืนหยัดคู่คนในท้องถิ่น’

รวมทั้ง เป็นกลไกสำคัญของจังหวัดในการเป็นแหล่งจ้างงานระดับภูมิภาค สร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน ลำดับแรกจำเป็นต้องบ่มเพาะสร้างจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ และเติมความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการค้า SMEs และร้านโชห่วย แม้ว่าโชห่วยจะเป็นกิจการเล็ก ๆ แต่เป็นหน่วยธุรกิจเล็กที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่มาก

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกรวมกว่า 400,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 370,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เกินกว่า 80% เป็นโชห่วยรายเล็กที่กระจายอยู่ในชุมชน หมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น การพัฒนาผู้ประกอบการร้านโชห่วยให้มีความเข้มแข็ง ทั้งการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการภายในร้านค้าจะทำให้ร้านโชห่วยของไทยได้รับการยกระดับเป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ที่พร้อมแข่งขันและพร้อมรับมือกับทุกความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการ BJC, MAKRO และสหพัฒน์ ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมโดยใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทสนับสนุนองค์ความรู้ที่จำเป็นและเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่เสริมศักยภาพทุกด้านให้ผู้ประกอบการ โดยจะร่วมกันจัดทำแผนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดช่วงเวลา รูปแบบ และแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับสถานที่ตั้งร้านและขนาดโชห่วยแต่ละแห่งเพื่อให้ง่ายต่อการเสริมสร้างทักษะองค์ความรู้และส่งต่อเทคโนโลยี ทั้งนี้ เชื่อว่า BJC, MAKRO และสหพัฒน์ จะเป็นพันธมิตรที่เป็นกำลังสำคัญในการยกระดับผู้ประกอบการโชห่วยให้เป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ที่สมบูรณ์

จัดกิจกรรมส่งเสริม

ในเบื้องต้นหน่วยงานพันธมิตร แจ้งว่า พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาส และความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs และโชห่วยในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น

* บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ร่วมจัดสัมมนาทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ โดย BJC จัดส่งวิทยากรเข้าร่วมให้ความรู้ผู้ประกอบการด้านการบริหารจัดการร้านค้า รวมถึงการเป็นพันธมิตรโครงการ ‘สมาร์ทโชห่วย พลัส’ ร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ร้านค้าใช้เทคโนโลยี POS เป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการ

* บริษัท ซีพีแอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ร่วมจัดสัมมนาออนไลน์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านบัญชี ภาษี การทำประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาร้านค้า สนับสนุนให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์หรือนิติบุคคล และพร้อมเป็นสื่อกลางส่งต่อข้อมูลของกรม ไปยังร้านค้าโชห่วยที่เป็นสมาชิกของ MAKRO

นอกจากนี้ ซีพีแอ๊กซ์ตร้าจะเชิญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะตัวแทนภาครัฐที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเข้าร่วมงานและออกบูธให้คำปรึกษา แนะนำ และร่วมเป็นวิทยากร ในงาน ‘ตลาดนัดโชห่วย’ ครั้งที่ 14 วันที่ 21-24 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) จ.ขอนแก่น และงาน ‘ตลาดนัด โชห่วยภูมิภาค’ ช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2567 จำนวน 6 ครั้ง 6 ภูมิภาค

* บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นวิทยากรในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโชห่วยด้านการบริหารจัดการต้นทุนสินค้า การจัดเรียงสินค้าที่ถูกต้องตามหลักสากล และการคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมมาจำหน่ายภายในร้าน การเชิญชวนและคัดกรองผู้ประกอบการเข้าร่วมการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาร้านค้าต้นแบบและโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส ในปี 2567 รวมทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรมอบรม/สัมมนา และหลักสูตร e-Learning ต่าง ๆ ของกรม เพื่อเสริมสร้าง องค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วย ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ให้แก่ร้านค้า การออกงานแสดงสินค้าและจัดโปรโมชั่นพิเศษให้แก่ร้านค้าอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาเอสเอ็มอี

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกตั้งแต่ขนาดเล็ก ได้แก่ ร้านค้าปลีกรายย่อย หรือร้านค้าโชห่วย ไปจนถึงร้านค้าขนาดกลาง-ใหญ่ ได้แก่ ร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นในระดับอำเภอ/จังหวัด โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1) เพิ่มรายได้ 2) ลดต้นทุน และ 3) สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

และเน้นด้านการส่งเสริมพัฒนาออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วย จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและหน่วยงานพันธมิตรที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก

ด้านที่ 2 พัฒนาร้านค้าให้เป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ดำเนินการครอบคลุม 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรดำเนินการพัฒนาด้านการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ตามหลัก 5 ส (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) และด้านการส่งเสริมใช้ระบบ POS โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้ความรู้ในการนำระบบ POS (Point of Sale) มาใช้บริหารจัดการภายในร้าน

ด้านที่ 3 การยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นให้เป็น ‘ร้านค้าต้นแบบ’ ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นขนาดกลาง-ใหญ่ในพื้นที่ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ให้มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีตามเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้านต่าง ๆ อาทิ การกำหนดทิศทางและกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน ลูกค้าและการตลาด สารสนเทศ เทคโนโลยีและนวัตกรรม บุคลากร การจัดซื้อและบริหารจัดการโลจิสติกส์ การบริหารการขาย

อย่างไรก็ดี กรมจะเดินหน้าขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรรายอื่น ๆ ที่มีความเข้มแข็งแต่ละด้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันได้ทุกตลาดและเติบโตอย่างเป็นระบบ เช่น บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกอันดับต้นของประเทศ ที่มีทั้งประสบการณ์ องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจค้าส่ง-โชห่วยและธุรกิจร้านอาหารของไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน