โลกของเกมบนบล็อกเชน ก้าวใหม่ “แอสเฟียร์ x บิทคับ”

แอสเฟียร์ x บิทคับ

โลดแล่นในธุรกิจเกมบ้านเรากว่า 20 ปี บมจ.แอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์ (AS) ในชื่อเดิม เอเชียซอฟท์ ขยับขยายธุรกิจไปกับเทคโนโลยี “บล็อกเชน” โดยร่วมทุนกับ “บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” เปิดบริษัท “คับเพลย์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” เมื่อปี 2565 พัฒนาแพลตฟอร์มเกม Hybrid Web 3.0 เริ่มที่เกม TSX ที่พัฒนาจาก TS Mobile เป็นเกมแรก

ปรับตัวรับเทรนด์ Web 3.0

“กิตติพงศ์ พฤกษอรุณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคับเพลย์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กล่าวว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกมได้มากมาย จึงนำไปสู่ความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และมีส่วนแบ่งตลาดในไทยกว่า 95% อย่าง “บิทคับ” เพื่อต่อยอดธุรกิจเกมบนเทคโนโลยี Web 3.0 บนแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “Astronize”

ในต่างประเทศมีกรณีศึกษามากมาย เช่น หลัง Netmarble ผู้พัฒนาเกมชื่อดัง เปิดให้บริการเกม A3 : Still Alive ที่ทำงานบนบล็อกเชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 7 เท่า มีผู้ใช้งานต่อวันสูงขึ้น 6 เท่า มีการกลับมาเล่นซ้ำ 2 เท่า หรือแม้แต่บริษัทเกมท็อป 10 ในเกาหลีใต้ก็รุกตลาดทำแพลตฟอร์ม Web 3.0 เช่น Kakao พัฒนา BORA, Netmarble พัฒนา MARBLEX และ Nexon สร้าง MapleStory Universe

กิตติพงศ์ พฤกษอรุณ
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

กิตติพงศ์ พฤกษอรุณ

“ปัจจุบัน 70% ของการทำงานบนบล็อกเชนเป็นเกมหมดแล้ว สะท้อนว่าโลกของเกมกำลังเปลี่ยนไป ในอนาคตจะมีเกมที่ทำงานบนบล็อกเชนมากขึ้น ในปี 2565 จำนวนเกม Web 3.0 ที่อยู่ใน Epic Games Store มีอยู่ 2-10 เกม ปี 2566 เพิ่มเป็นเกือบ 70 เกม”

สำหรับ Astronize คือแพลตฟอร์มเกม Hybrid Web 3.0 ที่ช่วยให้เกมในโลก Web 2.0 เชื่อมกับระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเข้าสู่โมเดลเกม Web 3.0 ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยผู้พัฒนาเกมไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนด้วยตนเอง เพราะเชื่อมต่อเกมเข้ากับ Astronize ผ่าน API และ SDK ที่เตรียมไว้ได้ ใช้เวลาไม่เกิน 3-6 เดือน

สิ่งที่เกิดขึ้นในแง่การใช้งาน ผู้ใช้เล่นเกมตามปกติบนมือถือ แต่จะแปลงไอเทมเป็น NFT (Non-Fungible Token) เพื่อแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายบนแพลตฟอร์มได้ เมื่อแปลงกลับมาเป็นไอเท็มในเกม NFT ที่แสดงบนแพลตฟอร์มก็จะหายไปโมเดลลักษณะนี้เป็นการซัพพอร์ตพฤติกรรมคนเล่นเกมไปในตัว ที่ผ่านมาการซื้อขายไอเท็มนอกตลาดเกิดขึ้นอยู่แล้ว บางคนโดนโกงและตรวจสอบไม่ได้ว่าซื้อขายกับใคร แต่เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม จะช่วยสร้างความอุ่นใจให้ผู้เล่นมากขึ้น

“จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า Tokenization หรือกระบวนการสร้างตัวแทนของทรัพย์สินต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล หรือโทเค็นเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายแลกเปลี่ยนจะมีบทบาทกับการดำเนินชีวิต และธุรกิจของอุตสาหกรรมเกมมากขึ้น

“กิตติพงศ์” กล่าวด้วยว่า Astronize มีแผนที่จะออก AST Token ซึ่งเป็น Utility Token สำหรับใช้ในอีโคซิสเต็มของแพลตฟอร์ม คาดว่าจะยื่นเอกสารขออนุญาตเสนอขายต่อสาธารณะ (ICO) ได้ทันทีหลังสำนักงาน ก.ล.ต.ประกาศเกณฑ์ชัดเจน

“ในส่วนของการสร้างรายได้จะมาจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเกมเป็นหลัก ถ้าในอนาคตมีเกมจากนักพัฒนารายอื่นมาอยู่บนแพลตฟอร์มก็จะเริ่มรับรู้รายได้แบบ Revenue Sharing ด้วย”

ชูเกม TSX เจาะอาเซียน

ทั้งนี้ Astronize จะเริ่มให้บริการเกม “TSX” เดือน มี.ค. เป็น Mobile Game ประเภท Turn-Based RPG ในรูปแบบ Play & Earn เน้นประสบการณ์การเล่นเกมที่สนุกสนาน พัฒนาจากเกมที่อิงเรื่องราวตัวละครจากนวนิยายสามก๊ก TS Mobile ที่เคยโด่งดังในอดีตมีผู้เล่นในไทยกว่า 500,000 คน

โดย TSX ได้อัพเกรดเนื้อหาและระบบใหม่ รวมถึงผู้เล่นจะรับเหรียญ TSX Token ได้จากการขุด และแปลงไอเท็มในเกมเป็น NFT เพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เล่นได้บน Astronize Marketplace (NFT Primary Market) และในปลายปี 2567 จะมีการเปิดตัวเกมเพิ่มอีก 1 เกม

“หลังเปิดให้บริการเป็นทางการ เราตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้ต่อเดือน 5 แสน-1 ล้านราย จากฐานลูกค้าเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอสเฟียร์ที่มีราว 3 ล้านราย กับนักลงทุนของบิทคับกว่า 2 ล้านราย และน่าจะมีกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วย”

“กิตติพงศ์” กล่าวด้วยว่า 6 ประเทศหลักในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่สำคัญของธุรกิจเกม Web 3.0 มาก จากมูลค่าตลาดในปี 2565 ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสเติบโตในปี 2568 อีก 8.6% และมีผู้เล่นเกมในภูมิภาค270 ล้านราย คิดเป็น 19% ของผู้เล่นเกมในเอเชีย