รอรัฐบาล 3 เดือน เคาะระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติสู่มือถือคนไทย

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ

กสทช.-AIS ผ่านการทดสอบระบบสื่อสารข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติ- เหตุฉุกเฉิน ตรงสู่โทรศัพท์มือถือคนไทยแล้ว เหลือระบบสั่งการภัยพิบัติจากภาครัฐ คาดใช้เวลา 3 เดือนตั้งศูนย์บัญชาการ

วันที่ 5 มีนาคม 2567 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า

ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดคิด เช่น เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม จึงทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ (Cell Broadcast Service)

“แต่การทดสอบวันนี้ชี้ให้เห็นว่าเรามีเทคโนโลยีและความพร้อมทางวิศวกรรมแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ส่วนการจะใช้งานระบบแจ้งเตือนสู่มือถือยังต้องมีการพูดคุยอีกหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการออกประกาศ/ระเบียบ/ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าจะจัดประเภทภัยพิบัติอย่างไร และใครมีอำนาจประกาศ รวมถึงจะประกาศภัยเป็นภาษาอะไร เพราะในไทยเราก็มีหลายเชื้อชาติ ทั้งนักท่องเที่ยวเป็นคนจีนเยอะ แรงงานเราก็มีพม่าเยอะ อาจต้องมาคิดเรื่องการใช้ภาษาอีก”

ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่แบบ Cell Broadcast ดังกล่าว จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นใด

“การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast Service ซึ่ง กสทช.เริ่มต้นกับ AIS ในวันนี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากล สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยทางสังคมให้กับประเทศต่อไป” ประธาน กสทช.กล่าว

ด้านนายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประธาน กสทช.กล่าวว่า ในฐานะผู้ประสานงานกับรัฐบาล ขณะนี้ศูนย์บัญชาการสั่งการระบบ Cell Broadcast เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องหารือ ว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการประกาศภัยพิบัติ เพราะมีความซับซ้อนมาก

ปัจจุบันการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินก็มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย ภัยพิบัติด้านสภาพอากาศก็มีกรมอุตุนิยมวิทยาของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังไม่รวมถึงเหตุด่วนเหตุร้ายอย่างคนหาย โจรลักขโมย ที่เป็นภารกิจของตำรวจหรือเจ้าพนักงานปกครอง แม้แต่กรุงเทพมหานครก็มีความต้องการเฉพาะในการแจ้งเตือนเหตุด่วน ฉุกเฉิน แก่ประชาชน

“กรอบการทำงานหารือครั้งนี้ เห็นว่ามีเวลา 3 เดือน จึงจะมีความชัดเจนว่าควรจะออกแบบวิธีการทำงานเป็นประกาศหรือกฎกระทรวง หรืออาจมีการหารือในระดับ ครม. ให้ประกาศเป็นพระราชกำหนดก็ได้ แต่คาดว่าภายในสิ้นปีจะมีความพร้อมใช้งานระบบแจ้งเตือนดังกล่าว ส่วน กสทช.มีหน้าที่รับรองมาตรฐานเทคโนโลยีนี้ และกำลังดำเนินการในการประชุมบอร์ด กสทช.ครั้งต่อไป

ด้านนายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เราได้ร่วมทำงานกับ กสทช.และภาครัฐ ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือเทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน

เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป”

โดยโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดยศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และการอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดยผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และการบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)