ถอดรหัส Canvas Ventures ลงทุนสตาร์ตอัพโมเดลใหม่สไตล์ “กงสี”

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์, ผศ.ดร.ทิพวรรณ ปิ่นวนิชย์กุล และ อลิกซ์ แอนดลอเออร์
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์, ผศ.ดร.ทิพวรรณ ปิ่นวนิชย์กุล และ อลิกซ์ แอนดลอเออร์

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในสตาร์ตอัพค่อนข้างจะเงียบเหงา คล้ายเป็นช่วงเวลาของฤดูหนาวที่แช่แข็งทุกอย่างไว้ จากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ และการขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนชะลอตัว

แต่ดูเหมือนว่าปี 2567 ลมหนาวจะพัดผ่านวงการสตาร์ตอัพไปแล้ว เหล่านักลงทุนเริ่มมองหาดีลการลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต ตรงความต้องการของตลาด มีกองทุนเกิดใหม่ และการจัดตั้งบริษัทด้านการลงทุนทยอยเปิดตัวเรื่อย ๆ

ล่าสุด “Canvas Ventures” บริษัทร่วมลงทุนสัญชาติไทย มี “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

หมดยุคสตาร์ตอัพเผาเงิน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Canvas Ventures กล่าวว่า ช่วง startup winter และ venture winter กำลังจะผ่านพ้นไป โดยได้อานิสงส์จากการลดดอกเบี้ยของเฟดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3-4 ปี 2567 ทำให้ภาพรวมของการลงทุนจะฟื้นตัว แต่วิธีการลงทุนเปลี่ยนไป นักลงทุนจะลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสอยู่รอด และเติบโต หมดยุคเผาเงินไปเรื่อย ๆ แบบในอดีตแล้ว

“การเปิดตัว Canvas Ventures ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ช่วงซัมเมอร์ของวงการสตาร์ตอัพที่การลงทุนจะเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น ถ้าเตรียมการช้ากว่านี้อาจไม่ทันการณ์”

ด้าน นายบุญศักดิ์ ศรีประเสริฐยิ่ง ที่ปรึกษาด้านการลงทุน Canvas Ventures เสริมว่า จากข้อมูลของ Crunchbase บริษัทที่ให้ข้อมูลทางธุรกิจระบุว่า การลงทุนในสตาร์ตอัพในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ถึง 35% ปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง นักลงทุนชะลอการลงทุนไปเยอะ และเลือกลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลกำไรได้เท่านั้น โดยพิจารณาจากคุณภาพของแผนธุรกิจและความตั้งใจของผู้ก่อตั้งเป็นหลัก

“ภาพรวมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเห็นว่าแกนหลักในการลงทุนกว่า 90% อยู่ที่อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งโจทย์สำคัญของเรา คือทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน ไทยมีจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยว และเกษตรกรรมเป็นตัวชูโรงอยู่แล้ว แต่ต้องปรับไมนด์เซตของผู้ประกอบการไทยให้หาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศด้วย เพราะตลาดในประเทศเราเล็กเกินไป”

Canvas Ventures คือใคร

ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า Canvas Ventures เป็นบริษัทร่วมลงทุนที่ต้องการผสานองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจเก่า (Old Economy) ที่มีอยู่ในไทยอยู่แล้ว ทั้งปิดช่องว่างการลงทุนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเป็นสะพานเชื่อมในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ และการข้ามผ่านข้อจำกัดด้านกฎหมาย

“ผมวางแผนทำโปรเจ็กต์นี้ตั้งแต่หมดวาระใหม่ ๆ เพราะต้องการยกระดับระบบนิเวศนวัตกรรมของไทยให้พร้อมต่อการก้าวเข้าสู่ตลาดโลก เมื่อก่อนจะเห็นว่าสินค้านวัตกรรมไม่ค่อยสวย เน้นขายแต่ความล้ำ สื่อสารกับคนลำบาก เราจะทำให้เรื่องเทคโนโลยีและศิลปะไปด้วยกันได้ ที่มาชื่อ Canvas Ventures มาจากความต้องการที่จะสร้างธุรกิจใหม่ คล้าย ๆ การสร้างผลงานคุณภาพบนผืนผ้าใบเปล่า”

การลงทุนจะโฟกัสไปที่ 4 กลุ่มธุรกิจ แบ่งหมวดหมู่เป็น “สี” ต่าง ๆ ดังนี้

1.เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 
หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

2.เศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy) หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย

3.เศรษฐกิจสีส้ม (Orange Economy) หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

4.เศรษฐกิจสีชมพู (Pink Economy) หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQIA2S+

ดร.พันธุ์อาจกล่าวต่อว่า แผนงานปีนี้จะเน้นสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบริษัท ให้ความสำคัญกับโปรไฟล์ของผู้บริหารแต่ละคนมาก จะเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ในวงการสตาร์ตอัพ มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว โฟกัสการลงทุนในระยะเริ่มต้น (Preseed/Seed) และระยะเข้าสู่ตลาด (Go-to-Market) เพราะเป็นส่วนที่ขาดแคลนการลงทุนจากนักลงทุน

“การลงทุนในแต่ละกลุ่มบอกเป็นสัดส่วนยาก ขึ้นกับมูลค่าดีลที่ตกลงกัน ส่วนเงินทุนที่ลงได้แต่ละรอบ (Ticket Size) อยู่ที่ 5 แสน-1 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีการคุยกับพาร์ตเนอร์ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่เราลงทุนแบบแอ็กทีฟ มีการโค้ชให้ด้วย จึงคาดว่าในอีก 5 ปี น่าจะมีดีลประมาณ 20 ดีล ดีลแรก ๆ น่าจะปลายปีนี้”

ชูจุดเด่นลงทุนสไตล์ “กงสี”

ดร.พันธุ์อาจกล่าวต่อว่า Canvas Ventures เป็นบริษัทร่วมลงทุนแบบ Multifamily Office หรือบริษัทที่บริหารเงินลงทุนจากธุรกิจครอบครัว มีการรวบรวมเงินทุนจากหลายบริษัท หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) มาลงทุนในระยะยาว คล้ายการลงทุนด้วยเงินกองกลางของครอบครัวในระบบ “กงสี” เป็นโมเดลที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาบริษัทในอังกฤษ และจีนมักนำเงินไปลงในสิงคโปร์ มีการตั้งบริษัทลักษณะนี้กว่าพันแห่ง

“เงินลงทุนหลักมาจากกลุ่มธุรกิจครอบครัว หรือคนมีฐานะ จะลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เจ้าของเงินสนใจเพื่อสั่งสมความมั่งคั่งในระยะยาวเกิน 10 ปี คล้ายการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าในกองมรดก ต่างจาก CVC (Corporate Venture Capital) ที่ตามหาทางเลือกใหม่ให้บริษัทตนเอง คาดหวังผลลัพธ์ระยะสั้น มองว่าการลงทุนลักษณะนี้เพิ่มตัวเลือกให้สตาร์ตอัพด้วย”

ผศ.ดร.ทิพวรรณ ปิ่นวนิชย์กุล คณะกรรมการบริหาร Canvas Ventures เสริมว่า ตัวอย่างการลงทุนในลักษณะนี้ เช่น ธุรกิจครอบครัวในฝรั่งเศสเอาเงินมรดกมาตั้งกองทุนเกี่ยวกับป่าไม้ พอถึงรอบก็ตัดต้นไม้ขายไปเรื่อย ๆ หรือลงทุนในสตาร์ตอัพที่พัฒนาโซลูชั่นเกี่ยวกับการบริหารพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

ผสานความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส

ดร.พันธุ์อาจกล่าวด้วยว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เยอะมาก จะเห็นว่าใน 10 ปีที่ผ่านมา อันดับด้านนวัตกรรมของฝรั่งเศสเขยิบขึ้นมาที่ 11 จาก 21 ยิ่งในยุคประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง มีการทุ่มงบฯวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 5,000 ล้านยูโร ทำให้ระบบนิเวศนวัตกรรมแข็งแรงขึ้น

“ความร่วมมือระหว่างเรากับฝรั่งเศสจะทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรมซึ่งกันและกัน ไปจนถึงการเพิ่มโอกาสที่สตาร์ตอัพไทยจะออกสู่ตลาดใหม่ ๆ ตอนนี้รัฐบาลไทยตั้งเป้าทำให้ไทยเป็นฮับการบินของโลก ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับทีมวิจัยของฝรั่งเศสที่พัฒนาโซลูชั่นบริหารจัดการการบิน เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น”

นายอลิกซ์ แอนดลอเออร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนชาวฝรั่งเศสที่มีประสบการณ์ด้านการประกอบการธุรกิจนานาชาติ (Serial Entrepreneur) เสริมว่าCanvas Ventures จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมการลงทุนระหว่างไทยและฝรั่งเศส ไปจนถึงการขยายตลาดของกลุ่มสตาร์ตอัพ ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การขยายตลาดเป็นไปได้ยาก คือข้อบังคับกฎหมาย และการนำเสนอจุดเด่นของแต่ละประเทศผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน

“นอกจากกรุงเทพฯ เรายังมีสำนักงาน ณ กรุงปารีส ที่จะเป็นสะพานเชื่อมนักลงทุนชาวไทย และเอเชียที่สนใจใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมของฝรั่งเศส บริษัทมีทีมที่เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจและการลงทุนโดยเฉพาะ เชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนระหว่างฝรั่งเศส และไทยให้ง่ายขึ้นได้”