“dtac-T” โครงข่าย 2300 MHz ความหวังใหม่ “ดีแทค-ทีโอที”

ประเดิมสัญญาพันธมิตรระหว่าง “ดีแทค” บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ “ทีโอที” ด้วยโครงข่าย “dtac-T” บนคลื่น 2300 MHz 10 เสาแรกใจกลางกรุงเทพฯไปแล้ว พร้อมวางแผนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 2 และครบ 37 จังหวัดที่มียอดใช้ดาต้าสูงสุดในสิ้นปีนี้ ก่อนสิ้นปี 2562 จะครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยสถานีฐานอย่างน้อย 25,000 แห่ง

“ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค เปิดเผยว่า จากนี้การลงทุนโครงข่ายบนคลื่น 2300 MHz จะเป็นภารกิจสำคัญ จากก่อนนี้เน้นขยายบนคลื่น 2100 MHz ซึ่งปัจจุบันมี 20,000 กว่าสถานีฐาน สิ้นปีจะเพิ่มอีก 4,000 แห่ง โดยปีนี้เตรียมงบฯลงทุนราว 15,000-18,000 ล้านบาท

“ความร่วมมือบนคลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz กับทีโอที จะทำให้ดีแทคกลายเป็นผู้นำบริการโมบายดาต้าคุณภาพสูง ทำให้ลูกค้าใช้งานได้ลื่นไหลขึ้น เป็นจุดแข็งที่ทำให้ดีแทคกลายเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งในตลาด แต่เราจะไม่ประกาศเป้าว่าจะเป็นที่ 2 หรือที่ 3 รอให้เป็นไปตามรอบของผลประกอบการ แต่จะเป็นไปตามคำยืนยันที่ให้กับนักลงทุนไว้ว่า รายได้ปีนี้จะไม่น้อยกว่าเดิม”

ส่วนเม็ดเงินลงทุนจากนี้ไปจนถึงปี 2568 (ตามสิทธิ์ที่ กสทช.อนุญาตให้ทีโอทีใช้งานคลื่นย่านนี้) ขอไม่เปิดเผยระบุเพียงว่า ดีแทคเป็นมีหน้าที่ขยายโครงข่ายให้ทีโอทีเช่า และจ่ายค่าโรมมิ่งให้ทีโอทีเพื่อนำมาให้บริการ ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วแต่ละปี “ทีโอที” จะมีรายได้เบ็ดเสร็จ 4,510 ล้านบาท ถือเป็น “win-win” ทั้งกับดีแทค ทีโอที และกับประเทศที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแรงขึ้น และส่งผลโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของ GDP

ส่วนข้อท้วงติงของ “กสทช.” ที่ว่า คลื่น 2300 MHz จะนำไปใช้งานด้านวอยซ์ไม่ได้ ทั้งยังระบุว่า เป็นย่านที่มีผู้อื่นใช้งานอยู่ด้วย “ประเทศ ตันกุรานันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ย้ำว่า คลื่นนี้จะให้บริการได้ทั้งวอยซ์และดาต้า การใช้งานวอยซ์ก็จะเป็นการใช้งานบนโมบายดาต้า (VoLTE) ซึ่งดีแทคจะจัดการให้ทั้งหมด ลูกค้าไม่ต้องกังวล ยังกดโทร.เข้า-ออกได้ปกติ

“ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าใช้งานบนคลื่นไหนอยู่ ขอแค่เครื่องรองรับและอยู่ในพื้นที่เครือข่าย ดีแทคจะจัดการให้ใช้งานอย่างราบรื่น ค่าบริการก็ใช้ตามเดิม และรองรับการใช้งานได้อย่างไม่จำกัด ต่อให้คนไทยทั้งประเทศย้ายมาใช้ดีแทคก็รองรับการใช้งานได้หมด”

ด้าน “มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการใช้คาพาซิตี้บนโครงข่ายที่เกิดขึ้นร่วมกัน ไม่ใช่การใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน จึงไม่ได้ขัดกับกฎหมาย ส่วนที่มีบางหน่วยงานใช้ความถี่ย่านนี้อยู่บางพื้นที่ ทางทีโอทีก็ได้หารือกับทุกรายเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ทีโอทีเตรียมขยายบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (fixed wireless broadband) ไปตามพื้นที่ที่ดีแทคขยายโครงข่าย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการวางโครงข่ายและเพิ่มความรวดเร็วในการติดตั้งให้ลูกค้าตามบ้าน โดยจะเริ่มเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาส 3

“กำลังคุยกันว่าส่วนไหนจะใช้อุปกรณ์ร่วมกับที่ดีแทคได้ และส่วนไหนที่ทีโอทีต้องไปลงทุนเอง จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนส่วนนี้เท่าใด”

ส่วนข้อสังเกตที่ว่า ความร่วมมือนี้อาจทำให้ “ดีแทค” ไม่สนใจจะประมูลคลื่น 1800 MHz ภายใต้สัมปทานของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่ดีแทคใช้งานอยู่และจะสิ้นสุดสัญญา 15 ก.ย. 2561 นั้น “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ระบุว่า ยังสนใจจะประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่เข้าไปรับเอกสารเงื่อนไขการประมูล (IM) ของ กสทช.มาศึกษา

“แต่คงยังไม่บอกว่าดีแทคจะทำอะไรไปจากนี้ เพราะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนอย่างขั้นตอนการพิจารณาของบอร์ด แต่ที่ผ่านมาก็มีหลายองค์กรที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการประมูลของ กสทช. ทั้งกฎ N-1 การจัดบล็อกคลื่น แต่น่าเสียดายที่ความเห็นเหล่านั้นไม่ได้รับการพิจารณา ตอนนี้ก็ยังศึกษา IM และพิจารณาว่า คลื่นแต่ละย่านใช้งานอะไรได้บ้าง และจะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้เท่าไรเป็นหลัก”

ขณะที่การเตรียมพร้อมรับ 5G ของดีแทค ก็ยังต้องรอประกาศมาตรฐานคลื่น 5G จาก ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) แต่ที่ทำได้เลยคือ massive MIMO และ core network ที่ดีแทคใช้งานอยู่มีความยืดหยุ่นในการปรับปรุงให้รองรับ 5G ได้ง่าย ยิ่งมีคลื่น 2300 MHz ที่มีแถบคลื่นที่กว้าง จะเป็นกุญแจสำคัญให้ดีแทคก้าวสู่ “5G-ready”