ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ โซเชียลสำคัญกว่าโฆษณา

สารพัดสถิติของทั้งแบรนด์และสำนักวิจัยย้ำชัดว่า คนไทยใช้โซเชียลมีเดียไม่แพ้ใครในโลก งบฯโฆษณายุคนี้จึงไหลสู่สื่อออนไลน์

“สุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัทเทลสกอร์ ระบุว่า แนวโน้มการตลาดด้านไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro-Influencers) มีมากขึ้น ในปัจจุบันผู้บริโภค 90% ชอบคอนเทนต์ที่เกิดจากผู้ใช้งานโซเชียลมากกว่าโฆษณา ในขณะที่ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ที่ตามไม่ถึง 1,000 คนจะมียอด organic reach (เข้าถึงผู้ใช้แบบธรรมชาติ โดยที่แบรนด์ไม่ต้องจ่ายเงิน) อยู่ที่ 42.9% ขณะที่ผู้ที่มีผู้ติดตามมากกว่าหลักแสนอยู่ที่ 10.1% และมากกว่าหลักล้านมีเพียง 2.1% เป็นเหตุให้นักการตลาดหรือแบรนด์ มองว่า “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์” เป็นช่องทางที่คุ้มค่าเงินและใช้งบฯโฆษณากับช่องทางนี้มากขึ้น ปัจจุบันอยู่ราว 20% ของมูลค่าโฆษณาสื่อดิจิทัลราวหมื่นล้านบาท

“จากผลสำรวจของ Linqia พบว่า 39% ของแบรนด์มีแผนเพิ่มงบฯใช้อินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น และ 92% มองว่าอินฟลูเอนเซอร์ ส่งผลให้แคมเปญการตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งพบว่า 52% ของนักการตลาดจะใช้อินฟลูเอนเซอร์คู่กับการใช้เซเลบริตี้ บล็อกเกอร์”

“เทลสกอร์” จึงเป็นสตาร์ตอัพมาร์เก็ตติ้งที่พัฒนาแพลตฟอร์มระบบจัดการอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สรุปค่าจ้าง ประมาณการผลลัพธ์ของแคมเปญก่อนว่าจ้าง ทั้งยังสรุปสถิติและวัดผลได้ ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์ในระบบ 2 หมื่นราย โดย 80% เป็นไมโครอินฟลูเอนเซอร์ มียอดติดตามหลักร้อยถึงหลักพัน แบ่งเป็นในเฟซบุ๊กบุคคล 58%, เฟซบุ๊กเพจ 12%, อินสตราแกรม 25% และทวิตเตอร์ 5% ซึ่งแม้ว่าทวิตเตอร์จะเติบโตสูง แต่ช่องทางที่ประสิทธิภาพดีสุดยังเป็นเฟซบุ๊ก

“ไมโครอินฟลูเอนเซอร์จะใช้โน้มน้าวให้เกิดการซื้อ ส่วนเซเลบหรืออินฟลูเอนเซอร์จะใช้สำหรับสร้างการรับรู้ ซึ่งแบรนด์จะชอบเลือกใช้คนที่มียอดผู้ติดตามที่ 500-10,000 คน ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุนของแบรนด์ที่สุด ส่วนการจ่ายเงินให้อินฟลูเอนเซอร์ของเทลสกอร์ มีตั้งแต่ 100 บาท/โพสต์ สูงสุด 5 หมื่นบาท/โพสต์อินฟลูเอนเซอร์ที่มีรายได้ประจำสูงสุดอยู่ที่ 5 หมื่นบาท/เดือน”

ด้านลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเอเยนซี่ ส่วนแบรนด์ลูกค้าจะเป็นเทลโก้,แก็ดเจต, อาหาร, การท่องเที่ยว ปีนี้บริษัทจะลงทุน 17 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้สิ้นปี 80 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มอินฟลูเอนเซอร์เป็น 30,000 รายภายในสิ้นปี

ด้าน “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้ถือหุ้น 15% ในเทลสกอร์ กล่าวเสริมว่า โซเชียลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องค้นดูรีวิวก่อนถึงจะซื้อ 92% เชื่อผู้บริโภคด้วยกัน 86% ไม่เชื่อโฆษณาของแบรนด์