เงินประมูลคลื่น ‘ถูก-แพง’ เกี่ยวอะไรกับ ‘ค่าบริการ’

เบร็ต ทาร์นัตเซอร์

คลื่นความถี่ในประเทศไทยต้องจัดสรรด้วยการประมูล ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ขณะที่ราคาประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่ไทยจัดไปก่อนหน้านี้ โดย NERA Economic Consulting เคยมีบทวิเคราะห์ไว้ว่า ราคาคลื่น 900 MHz ของไทย ถือเป็นราคาสูงสุด จากการประมูลคลื่นย่านนี้ทั่วโลก 39 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550  และสูงกว่าราคาเฉลี่ยทั่วโลกถึง 6 เท่าตัว ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีราคาสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่เก็บรวบรวมตั้งแต่ปี 2552 ที่มีการประมูลคลื่น 57 ครั้ง ถึง 3 เท่า

แต่ที่ผ่านมาก็มีนักวิชาการยกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ “sunk cost” หรือต้นทุนจมออกมายืนยันตลอดว่า เงินค่าประมูลคลื่นถือเป็น sunk cost ที่บรรดาค่ายมือถือไม่สามารถผลักภาระมาให้ผู้บริโภคจนเป็นเหตุที่ทำให้ค่าบริการที่ต้องจ่ายแพงขึ้นได้

เช่นกันกับ “กสทช.” ที่ยืนยันว่า ค่าบริการที่ผู้บริโภคชาวไทยจ่ายอยู่ในอัตราที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับต่างชาติ อีกทั้ง กสทช.ยังได้กำหนดเงื่อนไขการประมูลให้โอเปอเรเตอร์ต้องลดราคาต่ำลงจากเดิมไว้ด้วย

ล่าสุด “GSMA” สมาคมที่เป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับราคาประมูลคลื่นในประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อผู้บริโภค จากการเก็บข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 2010-2017 ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มข้อมูล โดยพบว่าผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาประมูลคลื่นที่สูง ทั้งในแง่ที่ต้องจ่ายค่าบริการที่มีราคาสูง การขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมที่ล่าช้า และการให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำ

“เบร็ต ทาร์นัตเซอร์” ประธานด้านคลื่นความถี่ของ GSMA เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็มีผลการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วว่า ราคาประมูลคลื่นมีผลกระทบต่อผู้บริโภค และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นได้มีการศึกษาเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากที่ผ่านมามีการศึกษาผลกระทบในกลุ่มนี้น้อย ด้วยผลการศึกษาที่พบนี้ก็ช่วยยืนยันว่า ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากราคาประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการโทรคมนาคมที่สูงเกินไป เพราะแทนที่ผู้ให้บริการจะนำเงินลงทุนไปขยายโครงข่ายพัฒนาบริการให้ดีขึ้น กลับต้องนำมาใช้สำหรับจ่ายเงินประมูลคลื่นเพื่อนำไปให้บริการ

โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ผลการศึกษาพบว่าราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 5 เท่า และราคาสิ้นสุดการประมูลสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 3 เท่า

“ที่ประเทศไทยไม่พบปัญหานี้ ทั้งที่ค่าคลื่นแพงมาก เป็นเรื่องที่โชคดีมาก จากผลการศึกษาพบว่าตลาดไทยอยู่ต่ำกว่าเส้นเฉลี่ยในด้านราคา แต่อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในด้านการขยายความครอบคลุมและความเร็วในการให้บริการ แต่จะคงสภาพนี้ไม่ได้นานนัก จากผลการศึกษาเชื่อว่า ราคาประมูลจะเริ่มมีผลในอีกไม่นานจากนี้”

นั่นแปลว่าสภาวะที่ผู้บริโภคไทยจะจ่ายค่าบริการบรอดแบนด์ที่มีราคาถูก แต่ได้ใช้งานในสปีดที่สูง ทั้งยังมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม จะคงอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน คือจะต้องผลักดันให้เกิดการแข่งขัน การพัฒนาคุณภาพบริการ และเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เพราะที่ผ่านมาการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ในไทยก็ยืนยันได้ถึงการยินดีจะลงทุนเพื่อบริการที่ดี แต่รัฐไม่ควรสร้างอุปสรรคด้วยต้นทุนการประมูลคลื่น

ที่สำคัญ คือ การกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลไว้สูงมาก เป็นการสกัดผู้เข้าประมูลตั้งแต่ต้น

“รัฐไม่ควรกำหนดเลยว่าใครจะเป็นคนแพ้ ควรต้องใช้กลไกการตลาด และเทรนด์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ รัฐลดราคาเริ่มต้นประมูลให้ต่ำลง เพื่อให้มีการส่งต่อบริการที่ดีในการใช้งาน มากกว่าจะมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการประมูลให้รัฐ ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและผู้ใช้งานที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว อย่ามองแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น”

สำหรับการประมูลคลื่นในไทย GSMA มีข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลย่าน 900 MHz ที่กสทช.กำหนดให้ผู้ชนะประมูลมีภาระต้องลงทุนระบบป้องกันคลื่นรบกวนกับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟความเร็วสูง เท่ากับเป็นการส่งผ่านหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้บริการสาธารณะไปสู่ผู้ชนะประมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ทั้งราคาเริ่มต้นประมูลที่ลดลงเล็กน้อยเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาระที่ต้องดูแลความปลอดภัยประชาชน

แต่ทาง “GSMA” ก็ระบุว่า ไม่สามารถเสนอตัวเลขที่ชัดเจนได้ว่าควรจะลดราคาลงเท่าใด แต่ควรต่ำพอที่โอเปอเรเตอร์จะเห็นโอกาสในการนำมาใช้ ทั้งย้ำว่าปกติระบบสื่อสารอาณัติสัญญาณของขนส่งทางรางในต่างประเทศ ไม่ควรเลือกใช้ย่านคลื่นที่ชิดกับคลื่นสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขนาดนี้

ส่วนการประมูลคลื่นในไทย ควรมีการวางนโยบายระยะยาวเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นที่มีความชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนของโอเปอเรเตอร์ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ยอมให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดราคาคลื่น และส่งเสริมการแข่งขันเพื่อประโยชน์ในระยะยาว ไม่ใช่รัฐกลายเป็นอุปสรรคในการแข่งขัน
ด้วยการกำหนดราคาเริ่มต้นสูง จำกัดจำนวนไลเซนส์ที่โอเปอเรเตอร์จะถือครองและไม่มีแผนการจัดการคลื่นที่ชัดเจน