เปิดแผนพัฒนา “ดิจิทัลพาร์ค” งบฯหมื่นล้าน ชู BOI ขั้นสูงสุดดึงเอกชนร่วมโครงการ ฟุ้งจีน-ญี่ปุ่นสนใจ เปิดตัวผู้ร่วมลงขัน ก.พ. 62 ฟากสถาบัน IOT ตอกเสาเข็ม ม.ค. 62
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยว่า โครงการ “ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์” ณ พื้นที่ 800 ไร่ อำเภอศรีราชา ชลบุรี เป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP (public private partnership) ดึงเอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่และเปิดให้เช่าใช้ โดยจัด market sounding จากภาคเอกชนแล้ว 1 ครั้ง เตรียมจัดอีก 2 ครั้ง และเปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชน พ.ย.นี้ และประกาศผลการคัดเลือก ก.พ. 2562 มูลค่าทั้งโครงการไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน ซึ่งมีนักลงทุนทั้งจีนและญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมโครงการ
โดยแคทจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม มีภาครัฐเข้ามาตั้งสถาบันไอโอที และสนับสนุนการประสานงาน ส่วนเอกชนมีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมาร์ทซิตี้ และหาผู้เช่าที่ธุรกิจสอดคล้องกับดิจิทัล
ส่วนกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินในโครงการเบื้องต้นมี 2 รูปแบบ 1.BTO (build transfer and operate) คือ ทันทีที่สร้างเสร็จต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐ และรัฐจะให้สิทธิ์บริหารต่อ 2.BOT (build operate transfer) คือ ทรัพย์สินอื่นนอกจากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ตึกหรืออาคารต่าง ๆ จะให้กรรมสิทธิ์เอกชนไปก่อนจนกว่าจะครบสัญญาที่เบื้องต้นวางไว้ 30 ปี หรือ 50 ปี แล้วโอนคืนรัฐ ส่วนโมเดลรายได้มีทั้งทำสัญญา revenue frontline กับตั้งบริษัทร่วมทุน
โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งในกรอบส่งเสริมทั่วไป และประเภทกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน, ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงสิทธิพิเศษจากการอยู่ในโครงการ EEC อาทิ ขยายเวลาลดหย่อนภาษีนิติบุคคล, ต่างชาติถือหุ้นได้ 100%, อนุญาตให้เช่าอสังหาฯได้ถึง 50 ปี และต่อสัญญาได้อีก 49 ปี, อนุญาตให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร, และกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา
“ดิจิทัลพาร์ค อยู่ในโครงการ EEC ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า1.7 ล้านล้านบาท โดยดิจิทัลพาร์คเชื่อมกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด เช่น สนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก”
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า สถาบันไอโอทีกำลังประกาศข้อกำหนดทางเทคนิค (TOR) ออกแบบอาคาร จะเริ่มก่อสร้างได้ ม.ค. 2562 ด้วยงบประมาณ 1,480 ล้านบาท และเสร็จในปี 2564
โดยใช้พื้นที่ 30 ไร่ ประกอบด้วย อาคารที่ 1 เป็นศูนย์ maker space สำหรับสร้างสินค้าต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และห้อง lab สำหรับ AI, IOT, 5G, VR & AR, cloud อาคาร 2-3 สำหรับสตาร์ตอัพที่เติบโตจากโครงการ กับบริษัทที่ต้องการสร้าง lab เอง อาคาร 4 เป็นศูนย์ IOC (intelligent operations center) สาธิตสมาร์ทซิตี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีสูงสุด 13 ปี สมาร์ทวีซ่า 4 ปี
ฟากภาคเอกชนที่เข้าร่วมฟัง market sounding ครั้งที่ 1 มีข้อกังวลเรื่องของกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์ที่ลงทุนไป เนื่องจากกำหนดรูปแบบไว้ให้เป็น BTO ที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ทันทีนั้น ขณะที่เอกชนอยากจะให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงยังเป็นของเอกชนเมื่อครบกำหนดสัญญา