ซัมซุงจัดทัพบุกB2Bโมบิลิตี้ จับมือพาร์ตเนอร์ปั้นโซลูชั่นKnox ปั๊มยอด

ซัมซุงบุก B2B ชู “Knox” ต่อยอดศักยภาพดีไวซ์ เสริมแกร่งความยูนีคของแบรนด์ จับมือพาร์ตเนอร์สร้างโมเดลใหม่ก้าวสู่ new mobile economy ช่วยปั๊มยอดขายสมาร์ทดีไวซ์ พร้อมปูพรมกระตุ้นตลาดลุยเจาะค้าปลีก-โลจิสติกส์-การเงิน

นายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นทำให้เกิดการ “เชื่อมต่อ” กันมากขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2563 ผู้คนจะมีการเชื่อมต่อกับ 6.58 อุปกรณ์ต่อคน แม้แต่โลกธุรกิจทุกอย่างก็ต้องเชื่อมต่อเข้ากับดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะอุปกรณ์พกพาที่เป็นสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ กลายเป็นปรากฏการณ์ next mobile economy ที่เทคโนโลยีโมบายได้ผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล

ดังนั้น ซัมซุงในฐานะที่เป็นอินเตอร์แบรนด์รายใหญ่ที่ใช้งบฯวิจัยและพัฒนาเป็นอันดับ 2 ในโลก คือ ราว 6% ของรายได้ จึงได้ต่อยอดจุดแข็งของฮาร์ดแวร์และสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยการพัฒนา Samsung Knox แพลตฟอร์มด้านซีเคียวริตี้ที่เป็นเสมือนกุญแจในการเข้าถึงข้อมูลที่ควบคุมลงไปถึงระดับชิปเซตของดีไวซ์ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด เทียบเท่ากับที่ใช้ในทางการทหาร เพื่อสร้างโซลูชั่นสำหรับองค์กรธุรกิจรูปแบบใหม่ อาทิ การจับมือร่วมกับ “Scandit” สตาร์ตอัพระดับโลกที่เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีการสแกนบาร์โค้ด ได้นำศักยภาพของกล้องใน Samsung Galaxy Note8 ที่ช่วยสแกน 30 บาร์โค้ดได้ด้วยการถ่ายรูปเพียงครั้งเดียว

“ซัมซุงมีดีไวซ์ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว จึงเห็นโอกาสที่จะทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้าแล้วจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อพัฒนาโซลูชั่นเฉพาะที่ตอบโจทย์ได้ โดยไม่ต้องสั่งผลิตฮาร์ดแวร์เฉพาะเอง แต่ใช้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของซัมซุง โดยมี Knox ดูแลซีเคียวริตี้ให้ จึงเป็นการติดสปีดในการเข้าทำตลาดให้ลูกค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจยุคนี้ เพราะดีไวซ์เกือบทั้งหมดของซัมซุงในตลาดมี Knox อยู่ในเครื่องอยู่แล้ว แล้วแต่จะมีการเปิดขึ้นมาใช้หรือไม่ ทั้งยังอัพเกรดให้สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา”

นอกจากนี้ยังได้ตั้งทีมงานเฉพาะด้านไอทีสำหรับลูกค้าธุรกิจ เพิ่มจากที่มีทีมสำหรับองค์กรธุรกิจในส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการสร้างโซลูชั่นที่เหมาะสมกับแต่ละลูกค้า

“Knox จะช่วยเสริมความยูนีคของซัมซุงให้แตกต่างจากแบรนด์อื่น และถ้าเราเข้าใจและตอบโจทย์ลูกค้าได้ สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่ยอดขายฮาร์ดแวร์”

นายมารุต มณีสถิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที ไทยซัมซุง กล่าวเสริมว่า next mobile economy จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ โดยมีเทคโนโลยีสำคัญคือ IOT, AI และ 5G เพียงแต่ต้องมีบุคลากรที่มีความเข้าใจ กระบวนการทำงานที่เปิดช่องให้นำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ การรับรองด้านกฎหมาย และนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้

ดังนั้นสิ่งที่ซัมซุงจะผลักดันคือ 1.การทำงานร่วมกัน (open collaboration) ด้วยการเปิดให้พาร์ตเนอร์เข้ามาพัฒนาร่วมได้ 2.การปรับปรุงให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละองค์กร (open

customization) 3.ต้องควบคุมได้ (open yet controlled) เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และ 4.ต้องปลอดภัย (open yet secure) โดยมี Knox มาช่วยในช่วงแรกจะเน้นการให้ความรู้กับตลาดให้เห็นประโยชน์ โดยมีอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ค้าปลีก โลจิสติกส์ และหน่วยงานภาครัฐเป็นเป้าหมาย

ด้านนายอรรนพ สิทธิราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาต้า บาร์ จำกัด หนึ่งในพาร์ตเนอร์ของซัมซุง กล่าวว่า 1-2 ปีมานี้ องค์กรธุรกิจไตื่นตัวมากในการนำอุปกรณ์โมบิลิตี้มาใช้เพื่อเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล โดยบริษัทได้เน้นเสนอโซลูชั่นสำหรับบริหารคลังสินค้าและระบบบริหารการขาย (point of sale) ให้กับบริษัทขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งใช้ Knox และดีไวซ์ของซัมซุงที่ออกแบบมาให้มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาวะแวดล้อม อาทิ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งที่อุณหภูมิติดลบ โกดังธุรกิจค้าปลีก-โลจิสติกส์