ยิงตรงถึงผู้กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ FEGO ปั้น 4.0

ในยุคที่องค์กรทั้งหลายตื่นตัวจะรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่น แต่สิ่งที่ทั้งนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญรวมไปถึงพนักงานของแต่ละองค์กรเองระบุว่า คือความท้าทายและอุปสรรคสำคัญในการ “change” นั่นคือ “mindset” ของผู้บริหารองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ

นี่จึงเป็นที่มาของการตั้ง “สถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต” หรือ FEGO โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งมี ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบัน

“สุรางคณา วายุภาพ” ผู้อำนวยการ สพธอ. และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ร่วมก่อตั้ง FEGO ระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ไม่รู้ว่า “มีประโยชน์-นำมาใช้ได้อย่างไร”

และอายที่จะบอกกับคนอื่นว่า ไม่รู้จักหรือไม่รู้จะหาความรู้ หาคนที่จะมาอธิบายในเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ อย่างไร ซึ่งความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ “เห็นภาพใหญ่-เข้าใจปัญหาอุปสรรค” อย่างชัดเจน และไม่กลัวที่จะใช้เทคโนโลยีโดยมีหลักสูตรแรก คือ FEGO : เศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้บริหารระดับสูง ซึ่ง “ดิสรัปต์” รูปแบบการเรียนการสอน ให้บรรดาสตาร์ตอัพ young blood คนรุ่นใหม่ เป็นผู้สอนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนรุ่นเก่า ในรูปแบบที่ผลัดกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่าง ๆ

และเพื่อให้เกิดผลอย่างชัดเจน ทางคณะกรรมการหลักสูตรจึงประชุมเพื่อคัดเลือกรายชื่อผู้ที่จะ “เชิญ” มาเรียน ซึ่งในรุ่นแรก มี 60 คน เน้นกลุ่มที่จะมีบทบาทเข้าไปกำหนดนโยบาย ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร โดย 22% เป็นผู้อยู่ในงานการเมืองการปกครอง 21% ผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานรัฐ 13% เป็นภาคเอกชน เพื่อจะปิดช่องว่างเรื่องความเข้าใจเทคโนโลยีสำหรับการกำหนดนโยบายให้ถูกทิศทางและปฏิบัติได้จริง อาทิ การเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ เพราะอะไรถึงปฏิบัติไม่ได้จริง ถ้าอยากทำให้ได้จริงควรออกแบบอย่างไร

“นักเรียนรุ่นแรก มีทั้งรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้บริหารองค์กรชั้นนำ อาทิ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ มีนักการเมืองอดีตรัฐมนตรีที่จะยังมีบทบาทในสภาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, จุติ ไกรฤกษ์”

โดยจะปูพื้นฐานตั้งแต่การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ความสำคัญของ storytelling ในยุคที่ต้องดึงดูดให้มีการติดตามข้อมูล ไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างบล็อกเชน บิ๊กดาต้า ไปจนถึงมิติในเชิงกฎหมาย นโยบายของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเมื่อจบหลักสูตร 40 ชั่วโมงแล้วจะต้องมีประเด็นสำคัญในแง่ธุรกิจหรือนโยบายนำเสนอต่อรัฐบาลด้วย โดยในแต่ละปีคาดว่าจะมีการอบรม 2 รุ่น และมีการพัฒนาหลักสูตรเชิงลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ และในอนาคตจะมีหลักสูตรอื่นเพิ่มเติม รวมถึงที่เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าเรียนได้

“ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จึงไม่มีโอกาสได้ใช้งาน แต่ยังมีอีกมากที่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แต่ไม่มีความเข้าใจจึงไม่นำไปใช้งาน ซึ่งเป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาประเทศ