‘เอไอเอส’ พลิกเกมฝ่าดิสรัปต์ ชูโมเดล ‘คู่แข่งคู่ค้า’ ปั้นธุรกิจเพิ่มรายได้

“เอไอเอส” เดินหน้าปั้นแพลตฟอร์มดิจิทัล ชูกลยุทธ์ “Co-Competitive” จับมือพันธมิตรหลากธุรกิจสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน ดึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้ากว่า 41 ล้านราย นำร่อง “นาโนไฟแนนซ์”-“แอดเวอร์ไทซิ่งแพลตฟอร์ม” เสริมแกร่งฝ่า “ดิจิทัลดิสรัปต์” ย้ำจุดยืนขอยืดจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ไม่เกี่ยวประมูลคลื่น 5G ทั้งระบุ 4G ยังโตได้อีกมาก ลุ้นเลือกตั้งดัน ศก.โต

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การแข่งขันของโทรคมนาคมที่่ผ่านมาเน้นนำเสนอแพ็กเกจให้โดนใจลูกค้ามากที่สุด จนกว่าจะมี 5G แต่คงไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้ แม้ทุกรายจะอยากไป ขณะนี้จึงแข่งกันโชว์ความเป็นผู้นำการทดสอบมากกว่า

5G โจทย์ใหญ่ธุรกิจ

การเร่งประมูลคลื่น 5G โดย กสทช.เป็นอีกปัจจัยที่บริษัทต้องพิจารณา เนื่องจากคลื่นความถี่สำคัญต่อธุรกิจ แต่จะเข้าร่วมประมูลหรือไม่คงตอบไม่ได้ในขณะนี้ โดยต้องพิจารณาทั้งเงื่อนไขการประมูล ราคา และการแข่งขัน

“ถ้าเงื่อนไขประมูลดีมาก เราคงเข้าร่วมด้วยหรือแม้แต่เงื่อนไขไม่ดีนักหากมีความต้องการ เช่น อีกปีข้างหน้าที่จะเปิดประมูล คลื่นอาจไม่พอก็ได้ หรือเทคโนโลยีมาเร็วกว่าที่คิด ก็อาจเปลี่ยนใจ รวมถึงการแข่งขัน แม้ราคาไม่ดี เงื่อนไขไม่ดี ตลาดยังไม่ดี แต่คู่แข่งแอ็กเกรสซีฟมาก ถ้าเขาได้คลื่นไปเราจะเสียโพซิชั่น ก็ต้องคิด แต่ที่แน่ ๆ เราไม่ได้ตัดสินใจแบบใช้ความรู้สึก ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ประเมินให้ และต้องให้บอร์ดบริษัทเป็นผู้อนุมัติด้วย”

บริการ 4G ยังโตได้อีกมาก การใช้งานยังอยู่แค่ 60% เพราะผู้บริโภคยังใช้โทรศัพท์มือถือที่รองรับ 3G หรือ 2G

4G ไทย “ถูกและดี”

“4G ไทยไม่แพ้ใครในโลก ทั้งคุณภาพและราคา ทั้งที่เน็ตเวิร์กคุณภาพดีจะต้องชาร์จแพง แต่บ้านเราของดีราคาถูก การแข่งขันราคาอย่างรุนแรงด้วยแพ็กเกจอันลิมิเต็ด ทำให้เราใช้ดาต้าเยอะมากโดยไม่จำเป็น ปลายปีที่ผ่านมาเราตัดสินใจยุติการทำโปรโมชั่นใช้ไม่อั้นไม่จำกัดความเร็ว (unlimited) เพื่อดึงให้อุตสาหกรรมกลับมาแข่งขันบนพื้นฐานที่ควรเป็น ให้ผู้บริโภคกลับมาใช้งานตามความเหมาะสม”

ปัจจุบันเอไอเอสมีฐานลูกค้า 41.9 ล้านราย ขณะที่ตลาดรวมมี 90 กว่าล้านเลขหมาย และยังเพิ่มต่อเนื่องจาก ผู้บริโภคที่ใช้สองเครื่องมากขึ้น

“ยอดขายซิมการ์ดเฉลี่ยเดือนละ 4 ล้านเลขหมาย เป็นเอไอเอส 1.5 ล้านเลขหมาย มีซิมใหม่หมุนในตลาดตลอดเวลา แสดงว่าเกิดการย้ายค่ายและเปลี่ยนเบอร์ เมื่อก่อนถ้าเป็นบริการด้านเสียง ลูกค้าโทรเยอะยังไงก็กินแบนวิดท์แค่นิดเดียว ต่างจากวันนี้ใช้ดาต้าเป็นหลัก ใช้ดาต้าเพิ่ม ก็ต้องใส่คาพาซิตี้เพิ่มทันที ไม่งั้นสปีดจะช้าลง เราลงทุนต่อเนื่องทุกปี และปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงปีที่แล้วคือ 2-2.5 หมื่นล้านบาท”

เลือกตั้งดัน ศก.โต-จุดยืนค่าคลื่น

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง น่าจะมีส่วนผลักดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะเงื่อนไขที่หลายประเทศมีข้อจำกัดการลงทุนกับรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเริ่มคลี่คลาย แต่จะเติบโตแค่ไหนขึ้นอยู่กับทั้งเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า

“ธุรกิจเรายังไปได้ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องยอมรับว่า เดิมธุรกิจเราจะโตสูงกว่าจีดีพี แต่วันนี้โตต่ำกว่ามา 2 ปีแล้ว เฉลี่ยถ้าจีดีพีโต 4% เราจะโต 3% จากเมื่อก่อนเราจะโต 5%”

สำหรับจุดยืนในการขอยืดจ่ายประมูลคลื่น 900 MHz ที่จะครบกำหนดจ่ายงวดสุดท้ายในปี 2563 เป็นเงิน 60,000 ล้านบาทนั้น บริษัทยังเคารพข้อตกลงเงื่อนไขเดิม แต่ได้ทำหนังสือขอความกรุณาไปยังรัฐบาลว่าหากยืดการจ่ายก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ไม่ได้นำไปผูกกับเรื่องประมูลคลื่นใหม่แต่อย่างใด

ลุยปั้น “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เอไอเอส” ยังพูดถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนว่า ต้องทำ 3 เรื่อง คือ 1.สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับคนไทยเพื่อช่วยอุตสาหกรรมอื่นที่ได้รับผลจากดิสรัปต์ 2.พัฒนา “คน” ไม่จำกัดเฉพาะคนในองค์กร เช่น โครงการ “Academy For Thais” และ 3.ปกป้องสังคมดิจิทัล

“การมูฟจากโอเปอเรเตอร์ไปเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ คือการสร้างแพลตฟอร์มที่ได้เห็นแล้ว ก็มีฟิกซ์บรอดแบนด์, วิดีโอแพลตฟอร์ม และคลาวด์ เราไปซื้อซีเอส ล็อกซอินโฟ ก็เพื่อให้มาดูคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงลงทุนกับแรบบิทไลน์เพย์สร้างโมบายมันนี่แพลตฟอร์มให้เกิดขึ้นจริง”

จุดพลุนาโนไฟแนนซ์-โฆษณา

โดยกำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม “นาโนไฟแนนซ์” ร่วมกับธนาคารปล่อยกู้ โดยนำดาต้าเบสของลูกค้าและช่องทางจัดจำหน่ายกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ มาใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ ซึ่งจะทำภายใต้ความยินยอมจากลูกค้า

“แพลตฟอร์มของเราจะวิเคราะห์ หาตัวตน และโอนเงินไปมาได้เหมือนที่อาลีบาบาทำ แต่จะไม่ทำเองเหมือนอาลีบาบา เราจะร่วมมือกับแบงก์ต่าง ๆ”

อีกแพลตฟอร์มที่กำลังพัฒนาคือ “แพลตฟอร์มแอดเวอร์ไทซิ่ง” สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หากนำมาเชื่อมกับลูกค้าเอไอเอสเพลย์ 4 ล้านคน ให้นำเสนอโฆษณาที่ตรงกับความต้องการลูกค้าได้ เพิ่มโอกาสในการขายโฆษณา

“พิศาลโมเดล” สร้างความยั่งยืน

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมเองก็ต้องปรับตัว จะอยู่รอดได้ 1.ทำตัวให้เล็ก และลงทุนน้อย ๆ เป็นแค่ “ท่อ” 2.แข่งกับผู้ประกอบการ “โอทีที” เหมือนกรณี “เอทีแอนด์ที” ไปซื้อไทม์วอร์เนอร์ หรือวิธีที่ 3 ซึ่งเอไอเอสเลือกใช้วิธีนี้เรียกว่า “Co-Competitive” หรือถ้าแปลแบบไทย ๆ อาจเรียกได้ว่าเป็น “พิศาลโมเดล” (พิศาลคือพระเอกละครแนวตบจูบ) เปรียบได้กับการทำธุรกิจก็มีทั้งแข่งขันและร่วมมือกันบ้าง

“อย่างไลน์ มีไลน์ทีวี เขาก็แข่งกับเราในเชิงของเอไอเอสเพลย์ แต่ก็มีความร่วมมือกันในหลายส่วน ไม่ว่าจะทำแรบบิทไลน์เพย์ด้วยกัน หรือการออกซิมดาต้าใช้เฉพาะกับบริการไลน์ เป็นตัวอย่างของการโคคอมเพตทิทีฟกันได้”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!