ดิจิทัลช่วย “บิน” ข้ามคู่แข่ง ThoughtWorks ดันสร้างคน

สัมภาษณ์

อาจจะไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป แต่ในวงการไอที “ThoughtWorks” เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่โดดเด่นด้วยแนวคิดการทำงานแบบ agile ก่อตั้งในปี 2536 ในชิคาโก จากคนทำงานไม่กี่คน ตอนนี้พนักงานกว่า 5,000 คน กระจายทั่ว 41 สำนักงาน ใน 14 ประเทศชั้นนำ และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายธุรกิจ ทั้งสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น ล่าสุดเพิ่งจับมือกับ Falabella แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์ชั้นนำของละตินอเมริกา พัฒนาการค้าดิจิทัล รวมถึงเป็นผู้พัฒนาระบบพร้อมเพย์ของธนาคารพาณิชย์ระดับ top 3 ในไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “พีท เจียมศรีพงษ์” ผู้จัดการทั่วไป ThoughtWorks ประเทศไทย ซึ่งทำงานกับ ThoughtWorks ออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี 2555 ร่วมก่อตั้งทีมสำนักงานสิงคโปร์ ก่อนมาบุกเบิกตลาดไทยในปี 2559

“อาเซียนเป็นตลาดสำคัญ โดยเฉพาะไทยมีผู้บริหารเก่งอยู่เยอะ มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการจะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นแกนหลักของธุรกิจ ก่อนจะเปิดสำนักงานในไทยก็มีบริษัทขนาดใหญ่ที่ตื่นตัวกับดิจิทัลดิสรัปชั่นมาคุยกับเราแล้ว”

เทคโนโลยีช่วยบินข้ามหัวคู่แข่ง

สถาบันการเงินถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มแรก ๆ เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากคู่แข่งระดับโลก รองลงไป คือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและการเกษตร ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปด้านดิจิทัลเพื่อขยายตลาดสู่อาเซียน และใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อในกระบวนการผลิตทั้งหมด

“องค์กรไทยตื่นตัวไม่แพ้ใคร ที่มาคุยกับ ThoughtWorks มีทุกอุตสาหกรรม เพราะรู้ว่าทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่อยู่ที่ว่า ผู้บริหารองค์กรจะเห็นว่า การลงทุนเทคโนโลยีไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่คือแกนกลางของธุรกิจที่จะทำให้บินข้ามหัวคู่แข่งได้ ไม่ใช่แค่แซงหน้า”

ยิ่งเศรษฐกิจผันผวน องค์กรขนาดใหญ่ มองว่า “ดิจิทัล” คือ ทางออก ซึ่ง ThoughtWorks ทำงานแบบ end-to-end คือ ไม่ใช่แค่ที่ปรึกษา แต่ลงมือวิเคราะห์ธุรกิจ สร้างระบบงาน ปรับวิธีการทำธุรกิจ ผลิตเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เฉพาะ สร้างแพลตฟอร์มที่จะก่อให้เกิดรายได้กลับมาให้ และขยายธุรกิจต่อไปได้เรื่อย ๆ

“คน” คือ ความสนุก+อุปสรรค

เมื่อถามถึงความท้าทายในการปฏิรูปองค์กรธุรกิจสู่ดิจิทัลในไทย “พีท” ระบุว่าคือ “คน” ที่ผ่านมาได้พบกับ “คน” ที่มีพลังกระตือรือร้นจะปรับตัว ทำให้ทำงานสนุกมาก แต่ “คน” ก็ยากสุด ท้าทายที่สุด ว่าจะทำอย่างไรให้ทิ้งการทำงานเก่า ๆ แบบ silo แล้วดึงทุกคนในองค์กรลูกค้าให้ลงมือทำงานร่วมกันจริง ๆ ไม่ใช่แค่พูดในที่ประชุม ซึ่งเป็นทั่วโลก

“ทุกคนที่ได้เจอ ThoughtWorks ต้องเก่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า เป็นคนที่มาสมัครงาน หรือทีมงาน ก็ต้องพัฒนาให้เก่งขึ้น ได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน อย่างแบงก์ไทยแห่งแรกที่มาหาเรา เพราะอยากจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ให้ก้าวไปสู่ระดับซิลิคอนวัลเลย์”

สร้างคน-Passion สำคัญสุด

แม้จะเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการไม่ได้ แต่สำนักงานในไทย ผลตอบรับดีกว่าที่คาดมาก เริ่มจากพนักงานแค่ 3 คน ตอนนี้มีกว่า 30 คนแล้ว สิ้นปีนี้น่าจะเป็น 50-60 คน

“ปัญหาขาดแคลนเทคทาเลนต์มีทั่วโลก แต่เรามีระบบสร้างทาเลนต์ของตัวเอง ทั้งด้วยกระบวนการเรียนรู้ในการทำงาน และมี ThoughtWorks University อยู่ที่จีน และอินเดีย แต่สำคัญที่สุด คือ คัดกรองคนที่มี passion เข้ากับองค์กรได้ดี มีความบ้าไปด้วยกัน แล้วค่อยมาเรียนรู้ไปด้วยกัน เราก้าวข้ามรีซูเม่ไปแล้ว เพราะเชื่อว่าแกนของคนไม่ได้อยู่ที่รีซูเม่ เรียนจบที่ไหนหรือไม่จบเลยก็ไม่สำคัญแล้ว อยู่ที่คุณมีของที่ให้พัฒนาได้ไหม ฉะนั้น จะวัดด้วยการให้มาลองทำงานด้วยกัน จำลองสถานการณ์ให้ได้รับมือ”

ในระหว่างสร้างคน ก็จะดึงทาเลนต์จากประเทศอื่นเข้ามาช่วย เพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบสากล และเป็นต้นแบบให้ทีมไทยด้วย เพราะบริษัทไม่ได้หยุดแค่ตลาดใดตลาดหนึ่ง แต่มองถึงโอกาสในการขยายไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งทีมงานคือส่วนที่สำคัญที่สุด จึงให้ความสำคัญกับการสร้างคน

อุปสรรคเด็กไทยโกอินเตอร์

ปัญหาที่เจอในการคัดเลือกทีมงานไทย คือ มักจะติดกับกรอบที่ไม่จำเป็น แทนที่จะมองไปที่เป้าหมายการพัฒนาตัวเองในอีก 10-15 ปีข้างหน้า วิธีที่จะพาตัวเองให้เติบโตในระดับโลกได้

“สมัครงานในไทยมักถามว่า ทำงานเริ่ม-เลิกกี่โมง มีเพื่อนอยู่ไหม ไม่ได้มองถึงความสำคัญของประสบการณ์ ขณะที่คนที่ผ่านคัดเลือกมาแล้ว ก็มักไม่เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ระบบคัดมาอย่างเข้มแล้วว่าคุณมีดีพอ”

ในโลกทุกวันนี้เชื่อว่าทุกคนมีสิ่งที่สนใจอยู่แล้ว และจะสามารถสร้างให้เป็นอาชีพได้ด้วยแรงผลักดันจากการสนใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็จะทำให้ “เก่ง” ขึ้นเรื่อย ๆ

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ หากสนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็จะอยู่รอดได้ สำคัญคือจะเรียนรู้นำเทคโนโลยีมาสร้างอิมแพ็กต์มากแค่ไหน เพราะ “คู่แข่ง” ทุกวันนี้ไม่มีสัญชาติ ไม่มีพรมแดน ไม่รอให้คุณพัฒนา แต่จะบินข้ามหัวพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

“ตอนนี้บอกไม่ได้หรอกว่า ถ้าองค์กรไม่รีฟอร์มสู่ดิจิทัลจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน แต่ขอย้ำว่า มีทุกอุตสาหกรรมที่เข้ามาคุยเรื่องนี้แล้ว ถ้าคุณยังไม่คิดก็จะไม่ทัน และถ้าคิดแล้วก็อยู่ที่จะทำได้เร็วแค่ไหน”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!