ภารกิจดีอีโค้งท้ายรัฐบาล รวม “TOT-CAT” คุมไซเบอร์

อยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มา 1 ปี 6 เดือนแล้ว สำหรับ “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ล้างอาถรรพ์ที่ก่อนนี้เพียงปีเดียว หลังเปลี่ยนชื่อกระทรวงก็มี ม.44 เปลี่ยนปลัดไปถึง 3 คน แต่ล่าสุดก็เพิ่งฝ่ามรสุม “พ.ร.บ.ไซเบอร์” ที่กลายเป็นเครื่องมือการเมืองชั้นดีในโค้งท้ายการเลือกตั้ง เรียกว่า “ดีอี” โดนกระหน่ำหนักไม่แพ้ สนช.ที่โหวตผ่าน

Q : กม.ไซเบอร์ถูกโยงการเมือง

เป็นปกติที่มีกระแส แต่คนก็เริ่มได้อ่านได้เข้าใจมากขึ้นว่า กฎหมายไม่ได้ก้าวล่วงในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ที่กลัวกันจริง ๆ ถูกกำกับด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่บังคับใช้มาเป็น 10 ปีแล้ว

แต่ตอนนี้ดีอีก็จะเริ่มทำความเข้าใจกับสาธารณะให้มากขึ้น ว่าจากนี้จะทำงานกันอย่างไร หน่วยงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศสำคัญของประเทศ (CII) จะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะกฎหมายลูกจะต้องประกาศออกมาภายใน 1 ปี โดยจะประกอบด้วยนโยบายการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ ประมวลแนวทางปฏิบัติของ CII เพราะกฎหมายมุ่งดูแลระบบไอที ซึ่งบางเซ็กเตอร์ก็ยังไม่มีความพร้อม ปัญหาใหญ่คือขาดแคลนคนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ การพัฒนาคนเป็นหัวใจที่ต้องเร่งรัด หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากร และสร้างความตระหนักให้กับทั้งผู้ใช้ทั่วไป และหน่วยงานราชการทั้งหมดที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ

Q : งานเร่งโค้งท้ายรัฐบาล

ก็ผลักดันจนครบหมดแล้วนะ เรื่องชุดกฎหมาย เน็ตประชารัฐ อย่างโครงการดิจิทัลพาร์ค ที่ศรีราชา ก็ทำ TOR เสร็จแล้ว เปิดซอง 24 เม.ย.นี้ การคัดเลือก พ.ค.ก็ต้องเสร็จให้หมด ส่วนการลงนามในสัญญาก็ก้ำกึ่งว่าต้องรัฐบาลหน้า ก็อาจจะทันรัฐบาลนี้แต่ของร้อนอย่างการควบรวม บมจ.ทีโอทีและ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ยังตอบไม่ได้ว่าจบรัฐบาลนี้จะเดินไปได้ถึงแค่ไหน เพราะทางอัยการสูงสุดก็ให้ความเห็นกลับมาแล้วว่า การควบรวมไม่กระทบกับข้อพิพาทเดิม แผนธุรกิจแบบละเอียด การจัดการหุ้นที่ถือใน INET ดีอีก็ทำรายงานรวมทุกอย่างตามที่ สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ต้องการครบแล้ว เหลือแต่ สคร.จะพิจารณาว่า จะเข้า ครม.เลยหรือไม่ ซึ่งดีอีตอบไม่ได้ แต่ตามปกติคือ ถ้า ครม.เคาะมาแล้วว่าให้ควบรวม กระบวนการทั้งหมดก็จะใช้เวลาราว 6 เดือน ก็จะมีบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติเกิดขึ้นและยุบทีโอที-แคท ซึ่งถ้า ครม.เคาะมาแล้วก็ต้องมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาเพื่อวางแผนให้การควบรวมมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Q : เน็ตประชารัฐใช้ได้จริง

เฟสแรกติดตั้งเสร็จแล้ว และดีอีได้หาเงินอีกก้อนไปจ้างที่ปรึกษามาช่วยตรวจรับของ วัสดุอุปกรณ์โครงข่าย วัดสปีดความเร็วของอินเทอร์เน็ตทั้งหมดให้ครบตรงตามสเป็กที่กำหนดไว้แล้ว ส่วนเฟส 2 ที่จะเชื่อมต่อไป รพสต.กับโรงเรียน เป็นส่วนที่ใช้งบฯบิ๊กร็อก ที่ช้าเพราะกว่ากระทรวงศึกษาฯจะส่งชื่อโรงเรียนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มาให้ก็ 30 ต.ค. 2561 ไปแล้ว กว่าจะทำผังวางระบบเพื่อลากไฟเบอร์ออปติก ตอนนี้ทีโอทีสั่งซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งแล้ว คาดว่าอีก 4 เดือนน่าจะเสร็จ

ส่วนศูนย์ไอซีทีชุมชนเดิม หรือที่ตอนนี้อัพเกรดเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน ตอนนี้กำลังให้สรุปรวมตัวเลข แบ่งกลุ่มสถานะและศักยภาพของศูนย์ สะสางปัญหาทั้งหมด เพื่อให้กลุ่มที่ถือว่าตายไปแล้ว จะรีเฟรชใหม่ โดยไปจับมือกับหน่วยแม่งานในแต่ละพื้นที่ เช่น ศูนย์ กศน. หรือศูนย์พัฒนาเกษตรในพื้นที่ เพราะดีอีไม่มีหน่วยงานในต่างจังหวัด แต่อุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องมีคนดูแล มีคนควบคุมจัดการให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง

Q : ปัญหาดาวเทียมยังไม่จบ

เป็นเรื่องที่ต้องส่งต่อ หลังจาก ครม.มีนโยบายออกมาหมดแล้ว ที่จะให้ PPP (ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน) กำลังขอแปลงงบประมาณปีนี้เพื่อจ้างที่ปรึกษายกร่าง TOR สำหรับทำ PPP บริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) 5 และ 6 หลังสิ้นสุดสัมปทานปี 2564 ก็ต้องรอให้กรมบัญชีกลางอนุมัติ แล้วถึงจะจัดจ้างผู้ที่มาทำ PPP ได้

Q : ไอพีสตาร์เคยถูกตีความไม่ใช่สัมปทาน

แต่ไทยคมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับกระทรวงทุกปีตั้งแต่วันแรกที่ยิงสู่วงโคจร ก็ต้องถือว่าโดยพฤตินัยแล้วใช่ ฉะนั้นหลังจากหมดสัมปทานในปี 2564 ก็ต้องมีบริษัทเข้ามาบริหารต่อ ซึ่งก็ควรจะเคาะชื่อได้ก่อนที่สัมปทานจะหมดล่วงหน้าสัก 1 ปี ถ้ากระบวนการต่าง ๆ เดินหน้าไปได้ตามที่วางแผนไว้ก็น่าจะทันนะส่วนดาวเทียมดวงที่ไทยคมได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. จะถือเป็นดาวเทียมในหรือนอกสัมปทาน เป็นข้อพิพาทกันอยู่ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการไป

Q : ต้องมีดาวเทียมแห่งชาติ

กระแสข่าวที่รัฐบาลจะให้แคทไปซื้อ บอกตรง ๆ ว่าไม่รู้เรื่อง ส่วนจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีดาวเทียมแห่งชาติ ขอไม่ตอบ เพราะไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่ถ้ารัฐบาลจะให้ศึกษาก็จะทำให้ ที่ ครม.มีนโยบายมาแล้วก็กฎ Landing Right ของดาวเทียมต่างชาติที่จะให้บริการในไทย กับ PPP ดาวเทียมหลังหมดสัมปทาน กับการเชิญชวนเอกชนมาใช้วงโคจรของไทยก็คงจะเป็นงานของรัฐบาลหน้า

Q : งานที่รัฐบาลหน้าต้องสานต่อ

คงตอบไม่ได้ ต้องแล้วแต่นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ แต่การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐที่กระทรวงเริ่มไปแล้ว ถ้ารัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ทำให้เป็นโครงสร้าง

พื้นฐานเหมือนไฟฟ้าประปา ก็คงต้องเข้ามาเร่งและสานต่อเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

Q : งานที่ภาคภูมิใจ

ผลักดันชุดกฎหมายดิจิทัลได้สำเร็จ ทำให้เน็ตประชารัฐใช้งานได้จริง นี่ถ้าควบรวมแคทกับทีโอทีได้ เป็นรัฐวิสาหกิจที่แข็งแรงได้ทัน คือจะภูมิใจมาก แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด แต่ที่น่าเบื่อที่สุดคือการสะสางปัญหาเก่า ๆ จากสัมปทานที่มีอยู่เดิม ค้างคามาเป็น 10 ปี สางอย่างไรก็ไม่จบ เพราะเป็นประเด็นทางกฎหมาย

Q : สเป็กรัฐมนตรีดีอีใหม่

ขอโนคอมเมนต์เถอะ