“ทีวีดิจิทัล” จี้รัฐออก ม.44 รีเซตบรอดแคสต์-โทรคมนาคม

"เขมทัตต์ พลเดช" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

ยืดเยื้อมานานสำหรับปัญหาทีวีดิจิทัลที่ผู้ประกอบการขาดทุนบักโกรก หลังออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2557 เพราะประมูลช่องด้วยราคาสูงลิ่ว อีกปัจจัยมาจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากหน้าจอทีวีสู่คอนเทนต์รูปแบบใหม่

แม้รัฐบาล คสช.จะใช้อำนาจมาตรา 44 ช่วยผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลมาแล้วหลายครั้ง ทั้งผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลช่อง การสนับสนุนค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมและค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ออกอากาศ แต่หลายช่องก็ยังขาดทุนยับ ภาพที่เห็นคือรายการโฮมช็อปปิ้งเกลื่อนจอที่จ้องขายของหาเงินโฆษณา

ขณะที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) พยายามพยุงไม่ให้เกิดทีวี “จอดำ” เพิ่มอีก หลังปิดตัวไปแล้ว 2 ช่อง โดยผลักดันให้ “คสช.” ใช้ ม.44 ปลดล็อกยืดเวลาจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz ให้ 3 บิ๊กมือถือ “เอไอเอส-ทรู-ดีแทค” มีเงินเหลือมาประมูลคลื่นใหม่ที่ กสทช.จะดึงกลับคืนมาจากผู้ประกอบการบรอดแคสต์ โดยระบุว่า จะเอาเงินประมูลมาเยียวยาช่องทีวีดิจิทัล แถมไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายออกอากาศอีกด้วย

เรียกว่าให้ตุนเงินไปทุ่มกับคอนเทนต์เต็มที่ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แต่วันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ

“เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ใบอนุญาตให้บริการ MUX และถือครองคลื่น 2600 MHz ที่ กสทช.คาดหวังจะเรียกคืนไปประมูล 5G ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีสาระน่าสนใจว่า

“ทีวีดิจิทัลเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐต้องรีบแก้ไข หลังเผชิญมาหลายมรสุม การรีเซตอุตสาหกรรมใหม่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินลงทุนด้านคอนเทนต์มากขึ้น”

ตอนนี้ผู้ประกอบการทุกรายต้องขวนขวายดิ้นรนกันเอง อย่างการจับมือทำโฮมช็อปปิ้งก็เพื่อสร้างรายได้จากโฆษณา ทั้งที่ พ.ร.บ. กสทช.และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ระบุว่า ภาครัฐต้องสนับสนุนด้วย ฉะนั้นรัฐบาลใหม่ต้องชัดเจนว่า “จะสนับสนุนอะไรบ้าง”

“ปัญหาคือใบอนุญาตประกอบกิจการราคาสูง วิธีการของรัฐที่ให้ผ่อนจ่ายได้ ไม่ได้ตอบโจทย์ให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจคอนเทนต์ หรือธุรกิจแพลตฟอร์มของดิจิทัลทีวีได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ควรทำคือต้อง revamp ปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ที่ภาครัฐมีในมือคือกฎระเบียบ กองทุนต่าง ๆ จะทำอย่างไรให้ซัพพอร์ตทีวีดิจิทัลที่เจอภาวะดิสรัปต์อย่างรุนแรงได้” 

สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องการคือ “ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่ค้างอยู่” โดยนำเงินจากเปิดประมูลคลื่น 700 MHz ที่ทีวีดิจิทัลใช้อยู่แล้ว หรือย่านอื่นที่ กสทช.จะนำกลับไปให้โอเปอเรเตอร์ฝั่งโทรคมนาคมประมูล ไปใช้งาน 5G มาจ่ายแทน และถ้ามีเงินประมูลเหลือพอจะชดเชยการขาดทุนให้ช่องทีวีด้วยก็จะดี

“จริง ๆ แค่ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลช่องทีวีที่เหลือก็ดีใจแล้ว เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนต้องจ่ายทุกเดือน แต่ปัญหาตอนนี้คือ ค่ายมือถือบอกว่า กสทช.เปิดประมูลคลื่น 5G ดูสูงเกินไป ใครจะเข้าประมูล ทำให้การช่วยเหลือทีวีดิจิทัลไม่เกิด ฉะนั้นถ้ารัฐบาลนี้ไม่ใช้ ม.44 เพื่อปลดล็อก ก็อยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยสานต่อ”

ขณะที่แผนการเปลี่ยนผ่านสู่วิทยุดิจิทัลก็ควรหยุดไว้ เพราะยิ่งทำให้เกิดปัญหายิ่งกว่าวิทยุชุมชน จากการมีช่องทางแพร่กระจายคอนเทนต์ที่รวดเร็ว ขณะที่การปล่อย fake news ก็เยอะ ยิ่งกระทบสังคมและความมั่นคง เชื่อว่าภาครัฐไม่มีศักยภาพจะกำกับดูแลได้

ส่วนการสรรหา กสทช.ใหม่เป็นเรื่องรูทีน รัฐบาลมีหน้าที่ซัพพอร์ตนโยบายหลัก อย่างการทำระบบเรตติ้งใหม่ ที่ของเดิมไม่เสถียรแล้ว ถ้ารัฐไม่ช่วยซัพพอร์ตก็เหมือนภาครัฐแค่หารายได้จากใบอนุญาตอย่างเดียว ไม่ช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุน

การกำกับคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องปักธงให้ชัดเจน จะยอมปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาหารายได้อย่างเสรีไปเรื่อย ๆ อีกหรือไม่

ถ้าคิดกำกับต้องสร้างความเท่าเทียมทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ แล้วใครเป็นผู้กำกับดูแลก็ต้องตรวจตรา เพื่อให้การประกอบกิจการเป็นไปตามกรอบ แต่ก็ต้องซัพพอร์ตด้วย ไม่ใช่แค่เก็บค่าธรรมเนียมอย่างเดียว

ส่วนการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก “อสมท” นายเขมทัตต์ระบุว่า ได้รับหนังสือแจ้งเรียกคืนจาก กสทช.แล้ว กำลังพิจารณาในหลายประเด็น โดยเฉพาะร่างหลักเกณฑ์การเยียวยาขอคืนคลื่นความถี่ ผลกระทบที่จะเกิดกับธุรกิจของ อสมท เพราะมีคลื่นบางส่วนที่ใช้งานอยู่ รวมถึงการประเมินมูลค่าคลื่น และการเยียวยาที่เหมาะสม แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแต่กระบวนการเหล่านี้ก็ยังเดินหน้าต่อ

“ที่ พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่เปิดช่องให้เปลี่ยนมือผู้ถือใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัลได้ ยังตอบไม่ได้ว่า ที่ อสมท มีอยู่ 2 ช่อง จะไปทางไหนต่อ ถ้าต้องตัดสินใจอะไรคงต้องดูกระแส ดูแผนธุรกิจของแต่ละสถานี ว่าจะสู้ต่อหรือไม่ ต้องดูตลาดหรือนักลงทุนด้วยว่า จะเข้ามามั้ย ตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!