WeTV ก้าวใหม่เทนเซ็นต์ ปลุกตลาดสตรีมมิ่งเดือด

ด้วยเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตและการบริโภคแบนด์วิดท์อย่างหนักหน่วงของคนไทย จึงไม่แปลกใจที่ตลาดคอนเทนต์สตรีมมิ่งตอนนี้จะเต็มไปด้วยยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ และน้องใหม่มาแรง ไม่ว่าจะเป็น Netflix LineTV และ Viu แต่ “กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งยังเป็น blue ocean ผลสำรวจจากเทนเซ็นต์พบ 49% ยังดูคอนเทนต์ในช่องทางที่ผิดกฎหมาย

“เทนเซ็นต์” ที่มีทั้ง Sanook และบริการเพลงอย่าง JOOX ตัดสินใจรุกบริการ “วิดีโอสตรีมมิ่ง” ด้วยการเปิดตัว “WeTV” ซึ่งพัฒนามาจาก “Tencent Video” ที่เปิดตัวครั้งแรกในจีน เมื่อปี 2011 และถือเป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของจีน ด้วยยอดผู้ใช้งาน active มากกว่า 500 ล้านคนต่อเดือน

“คอนเทนต์เครือเทนเซ็นต์ในไทยมีผู้ใช้งานเดือนละ 30-40 ล้านคน ทั้งเกม ฟังเพลง และเว็บไซต์ Sanook แต่เหลือบริการวิดีโอสตรีมมิ่งที่เทนเซ็นต์ยังไม่มีบริการในไทย จึงนำ WeTV มาให้บริการในไทย และมั่นใจว่า ไม่เริ่มช้าไป”

เหตุเพราะคนไทยใช้เวลาอยู่บนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาที และใช้เวลา 3 ชั่วโมง 44 นาที ดูทีวี สตรีมมิ่ง และวิดีโอ ขณะที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 98% ที่ดูวิดีโอออนไลน์ 53% ดูสตรีมมิ่ง เซอร์วิส ทั้งผลสำรวจผู้ใช้ JOOX พบว่า ผู้ใช้งาน 60% นิยมดูทีวีออนไลน์ และ 40% ดูหนัง

“เทนเซ็นต์ให้ความสนใจ 2 ประเทศในอาเซียน คือ อินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน และไทยที่แม้มีประชากรไม่มาก แต่มีกำลังซื้อ นี่เป็นครั้งแรกที่เปิดบริการ WeTV นอกประเทศจีน และมองว่ายังมีช่องว่างอีกมากให้ WeTV แทรกตัวเข้าไป โดยต้องอัดคอนเทนต์ที่มีเฉพาะที่เดียว เพราะสิ่งสำคัญคือต้องแย่งเวลาของผู้ชมกับบริการอื่น ๆ โดยวางตัวเองเป็นแมส เจาะกลุ่มอายุ 24-40 ปี ที่ไม่ต้อง educate ตลาดแล้ว”

บริการของ WeTV จะมีทั้งดูฟรีและแบบเสียค่าสมาชิก เริ่มต้นเดือนละ 59 บาท ถูกที่สุดในตลาด โดยจุดแข็งคือ คอนเทนต์จีนที่ผลิตโดย Tencent Penguin Picture สตูดิโอของเทนเซ็นต์เอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก้าวเป็นเบอร์ 1 ในจีนได้ ด้วยการผลิตคอนเทนต์ได้ปีละหลายร้อยเรื่อง ซึ่งเป็น “killer content” เพราะมีให้ดูเฉพาะที่ WeTV ทั้งคนไทยคุ้นเคยกับซีรีส์จีน ก่อนซีรีส์เกาหลีและญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังดึงพาร์ตเนอร์คอนเทนต์จากเกาหลี อเมริกา และผู้ผลิตในไทย รวม ๆ จะมีคอนเทนต์หลายร้อยเรื่อง

“มีโอกาสที่จะผลิตคอนเทนต์ร่วมกันกับผู้ผลิตไทย หรือรีเมกเรื่องจีนโดยใช้นักแสดงไทยกลับไปฉายจีน”

หลังทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ชอบซีรีส์จีน

“เรื่องรายได้ยังไม่โฟกัส เพราะเพิ่งเข้ามาทำตลาด ต้องสร้างแบรนด์และขยายฐานผู้ใช้งานก่อน โดยใช้อีโคซิสเต็มของเทนเซ็นต์ไทยแลนด์ ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้จาก JOOX คือ การที่มีคอนเทนต์ที่เพียงพอ ยูสเซอร์อินเตอร์เฟซที่ใช้งานง่าย เป็นสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ”