‘เน็ตฟลิกซ์’ดิ้นชี้แจง‘กสทช.’ ต้านแผนเก็บค่าใช้โครงข่าย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ไอเดียเก็บเงินยักษ์ OTT อลหม่าน “เน็ตฟลิกซ์-ไอฟลิกซ์” ยันไม่ได้ใช้ฟรี ระบุเจ้าของโครงข่ายมีรายได้จากการเก็บค่าแอร์ไทม์จากลูกค้า“ไอเอสพี” หวั่นกระทบโครงสร้างค่าบริการ ได้ไม่คุ้มเสียดึงสปีดเน็ตช้าลงเสี่ยงผู้บริโภครับภาระ “ค่ายมือถือ” ยอมรับ OTT ดันรายได้ nonvoice พุ่งก้าวกระโดด “ทรู” แนะหามาตรการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศให้สู้ต่างชาติ

 

หลังจากนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.กำลังพิจารณาออกร่างประกาศหลักเกณฑ์ในการเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้โครงข่ายจากผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (over the top : OTT) โดยคิดตามปริมาณทราฟฟิกที่ส่งผ่านเข้าโครงข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เนื่องจากมีการใช้งานเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้โอเปอเรเตอร์ในประเทศต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายโครงข่าย ขณะที่ผู้ให้บริการ OTT เป็นผู้รับรายได้เป็นหลัก จึงควรเก็บค่าธรรมเนียมบำรุงรักษาโครงข่าย

“ปริมาณการใช้ข้อมูลของคนไทยเพิ่มต่อเนื่อง จากปีที่แล้วพบว่าใช้ข้อมูลเฉลี่ย 5 เทราไบต์ต่อคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่า เมื่อมี 5G จึงต้องพิจารณาประเด็นนี้ควบคู่กันไป ส่วนจะจัดเก็บในอัตราใดกำลังรอผลศึกษา และขอข้อมูลจาก ISP น่าจะใช้เวลา 6-7 เดือน หากประกาศอัตราออกมาแล้ว OTT ไม่ยอมจ่าย จะกำหนดให้ ISP ลดสปีดสำหรับบริการของ OTT รายดังกล่าวลง”

ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้บริการ OTT ต่างประเทศ 3 รายใหญ่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ยูทูบ และไลน์ จากสถิติปี 2561 พบว่า เฟซบุ๊ก มีผู้ใช้งาน 61 ล้านบัญชี มีการใช้งาน 655 ล้านครั้งต่อเดือน, ยูทูบ มี 60 ล้านบัญชี มีการใช้งาน 409 ล้านครั้งต่อเดือน และไลน์มี 55 ล้านบัญชี มีการใช้ 126 ล้านครั้งต่อเดือน

กสทช.เปิดเผยด้วยว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 2,191 Gbps เพิ่มจากปีก่อน 7.7% ผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คือ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ที่ 27.67%

ยักษ์ OTT ช็อก-ย้ำไม่ได้ใช้ฟรี

แหล่งข่าวระดับสูงจาก “เน็ตฟลิกซ์” ผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่ระดับโลก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตกใจกับแนวคิดในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้โครงข่ายของ กสทช. และคงต้องเข้าไปหารือและชี้แจงข้อมูลกับสำนักงาน กสทช. เพราะจะกระทบผู้ให้บริการรายเล็กที่อาจเพิ่งเริ่มธุรกิจ และจะไม่สามารถแบกต้นทุนส่วนนี้ได้ ทั้งการให้บริการ OTT ไม่ใช่เป็นการเข้าใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตของโอเปอเรเตอร์แบบฟรี ๆ
เพราะผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีรายได้จากค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต หรือค่าแอร์ไทม์จากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้ OTT ด้วย จึงไม่ควรมองว่า OTT เอาเปรียบหรือใช้โครงข่ายฟรี

ด้านนางสาวอาทิมา สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอฟลิกซ์ จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดจึงต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลทั้งหมดก่อนว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

ทรูแนะส่งเสริมคอนเทนต์ไทย

นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์ และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย
“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผลดีหรือเสียกับผู้ประกอบการไทย หรืออุตสาหกรรมอย่างไร แต่อยากให้ กสทช.พิจารณาแนวทางกำกับดูแลที่เน้นสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการคอนเทนต์ในประเทศ เพื่อให้สู้กับผู้ให้บริการจากต่างประเทศมากกว่า ทั้งในส่วนมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศ รวมถึงเอื้อให้เกิดการพัฒนาทางธุรกิจ มากกว่าเน้นจัดเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยแสดงศักยภาพในการก้าวสู่ตลาดโลก ซึ่งในต่างประเทศมีองค์กรกำกับดูแลหลายประเทศที่เป็นต้นแบบที่ดี อาทิ สหรัฐอเมริกา

บอร์ดเสียงแตก

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้จาก OTT เป็นเรื่องที่หลายประเทศพยายามดำเนินการ แต่ไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นจริงได้ง่าย ทั้ง OTT รายใหญ่มีอำนาจต่อรองมากกว่าที่คิด หากออกกฎเกณฑ์มาแล้วตัดสินใจไม่ให้บริการในประเทศไทยจะกระทบผู้บริโภค และอาจเป็นการออกกฎเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะสร้างภาระให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเล็กจนไม่สามารถอยู่ในตลาดได้ และหากบังคับใช้ได้จริง ผู้ประกอบการจะผลักภาระมาให้ผู้ใช้บริการอยู่ดี

ด้านนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า หากต้องการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากบริการ OTT ควรมองไปที่การเก็บจากช่องทางการโอนเงินค่าโฆษณาจากบริษัทในไทยไปยัง OTT ต่างประเทศมากกว่า เพราะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดรายได้ก้อนใหญ่ และมีจำนวนเงินที่แน่นอน ประเมินเป็นภาษีได้ง่ายกว่า

ISP ชี้อาจจะเสียมากกว่าได้

นางมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (ISP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ถือเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ยังเป็นช่วงลองผิดลองถูก มีแค่โมเดลในฝั่งยุโรปเริ่มบังคับกูเกิล และเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตามโดยปกติ ISP จะไม่เข้าไปส่องดูว่าลูกค้าใช้อะไรบ้าง อีกทั้งการเข้าไปดูทราฟฟิกของ OTT และกรองทราฟฟิกอาจทำให้สปีดช้าลง และที่สุดแล้วภาระค่าใช้จ่ายจะตกไปอยู่กับผู้บริโภคอยู่ดี

ค่ายมือถือก็ต้องพึ่งพา OTT

แหล่งข่าวในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือกล่าวว่า แม้ OTT จะทำให้ต้องลงทุนขยายโครงข่ายเพิ่ม แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น จึงเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพากันและกัน ถ้ารัฐต้องการหารายได้เพิ่มน่าจะมองการหาเงื่อนไขที่จะดึงให้บริษัทเหล่านั้นเข้าระบบภาษีไทยน่าจะเหมาะสมกว่า

นายธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิมโฟนี คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่า หากไทยยังคงเป้าหมายเป็นฮับด้านดิจิทัลของอาเซียน ควรประเมินเรื่องนี้อย่างรอบด้าน และเน้นการเจรจาต่อรองมากกว่า เพราะ OTT มีบทบาทในเศรษฐกิจยุคใหม่สูง ควรดึงให้เข้ามาลงทุนในไทยเต็มตัวก่อนค่อยต่อรอง หากกำกับในช่วงนี้อาจเร็วเกินไป

นายสันติ เมธาวิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) กล่าวว่า แนวคิดนี้
เป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีการแยกทราฟฟิก และไม่ได้มีแค่ OTT ที่ใช้โครงข่ายฟรี ยังมีอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่เข้ามาใช้โครงข่ายด้วย จึงอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม และทำให้ไทยไม่ดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เลขาธิการ”กสทช.”ย้ำเก็บค่าเช่าโครงข่ายOTTยังเป็นแค่แนวคิด ผู้บริโภคใช้สื่อโซเชียลได้ตามปกติ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!