กสทช. แจงสี่เบี้ย “ม.44” ช่วยทีวีดิจิทัล-ค่ายมือถือ หนุนไทยสู่ 5G

รายงานข่าว สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ขอชี้แจงรายละเอียด คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ดังนี้

เหตุผลในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.

สืบเนื่องจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้มีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อให้ออกมาตรการแก้ไขปัญหา โดย “21 ก.ย. 2560” บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด มีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในงวดที่ 4 ซึ่งจะครบกำหนดจ่ายในเดือน มี.ค. 2563 ออกไปเป็น 7 งวด

และเมื่อ “21 พ.ย. 2562″ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด มีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอแบ่งการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกไปเป็น 15 งวด

ขณะที่ “17 ต.ค. 2560” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรวมตัวกันมีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้นำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่กันไว้สำหรับทีวีดิจิทัลมาจัดสรรใหม่ และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว

สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช.

มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรคมนาคม

1) คำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz จากเดิม 4 งวด ออกไปเป็น 10 งวด โดยเริ่มนับจากปีแรกที่ได้รับใบอนุญาตออกไปอีก 10 งวด

2) ในปี 2563 ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย จะต้องจ่ายเงินย้อนหลังปีให้แก่รัฐ โดยนับจากปี 2559 จนถึงปี 2562 เป็นเงิน 34,192 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2563 รัฐจะมีรายได้ 54,800 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2568 รัฐจะมีรายได้เกิดขึ้นทุกปีจำนวน 20,332 ล้านบาท และมีรายได้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2570 ซึ่งหากเทียบกับการชำระตามงวดเงินเดิมแล้ว รัฐจะมีรายได้จนถึงปี 2563 เท่านั้น

สรุปการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562

3) คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว ยังได้บังคับให้ผู้ประกอบการจะต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่เรียกคืนมาจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งจะทำให้รัฐมีเงินรายได้เพิ่มเติมอย่างน้อยอีก 75,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับงวดเงินที่มีการแบ่งชำระใหม่ ตั้งแต่ปี 2563 รัฐก็จะมีรายได้เกิดขึ้นทุกปีจำนวน 27,832 ล้านบาท ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2572 ซึ่งรวมแล้วรัฐได้เงินมากกว่าเดิมเกือบ 40% โดยยังไม่รวมผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศที่เกิดจากการลงทุนของภาคเอกชน

ผลประโยชน์ 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

1) การขยายระยะเวลาชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz จะช่วยให้เกิดสภาพคล่องในการลงทุนสำหรับเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต เกิดแรงจูงใจในการลงทุนจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

2) สำนักงาน กสทช. จึงเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งผลักดันให้เกิดเทคโนโลยี 5G ให้เกิดการใช้งานเร็วที่สุดภายในช่วงปี 2563 ถึงต้นปี 2564

ประมาณการของสำนักงาน กสทช. พบว่าการใช้งานเทคโนโลยี 5G จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้สูงถึง 2.3 ล้านล้านบาทภายในปี 2578 ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากภาคการผลิต 634,000 ล้านบาท ภาคการขนส่งหรือโลจิสติกส์ 124,000 ล้านบาท ภาคการเกษตร 96,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังช่วยลดต้นทุนด้านสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์อีกประมาณ 38,000 ล้านบาทต่อปี

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าไม่เพียงแต่รายได้เข้ารัฐที่มากกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังมีผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้งาน 5G ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลและต่อเนื่องไปอีกกว่า 10 ปีด้วย

3) 5G ยังจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ เปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2561 ประเทศไทยมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศลดลงเล็กน้อยด้วยซ้ำจาก 470,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านกลับดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าไทยอย่างน้อย 20%

โดยในปีที่แล้ว อินโดนีเซียเติบโตเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ 864,000ล้านบาท เวียดนามโตกว่าเท่าตัวอยู่ที่ 611,200 ล้านบาท ฟิลิปปินส์โตกว่า 8 เท่าตัว จนใกล้เคียงกับไทยที่ 313,600 ล้านบาท

ประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และความรู้ความสามารถของคนในชาติเพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ไม่ใช่สู้กันที่ค่าแรงขั้นต่ำ

และ 5G จะเป็นหนึ่งในคำตอบที่สำคัญ เพราะเปรียบเสมือนถนนดิจิทัลให้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภาคส่วน

มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล

การมีคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยินยอมให้นำคลื่นความถี่ช่วง 694 – 790 MHz ไปจัดสรรใหม่เพื่อให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม (5G) ได้ก่อนครบกำหนด ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ราว 75,000 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ต้องชดใช้ให้กับผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เงินประมูลคลื่นสำหรับช่องทีวีดิจิทัลงวดที่เหลือรวมกัน 13,622.4 ล้านบาท และค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (MUX) 18,604.8 ล้านบาท กับเงินรายได้ที่รัฐได้รับการจัดสรรคลื่น 5G แล้ว รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 42,772.8 ล้านบาท

อนึ่ง แม้เงื่อนไขใบอนุญาตให้บริการทีวีดิจิทัล จะกำหนดไว้ว่า หาก กสทช. ประสงค์จะให้ผู้ประกอบการย้ายไปใช้คลื่นความถี่ในย่านอื่น โดย กสทช. จะมีการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการโครงข่าย และประชาชนได้ก็ตาม

แต่จากการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากผู้ประกอบการย้ายไปใช้คลื่นความถี่ในย่าน 470 MHz เป็นต้นไปแทนได้ก็ตาม กสทช. จะต้องเยียวยาการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการโครงข่าย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์เครื่องรับของประชาชน (ทีวีตามบ้านเรือน) ด้วยวงเงินกว่าแสนล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่คุ้มค่าและเกิดผลกระทบกับประชาชนในวงกว้างทั้งประเทศ

ดังนั้น กสทช. จึงเห็นว่าการที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังคงสามารถใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ไปก่อนจนถึงปี 2572 และนำคลื่นส่วนที่เหลือไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย ย่อมเหมาะสมและไม่กระทบการใช้งานของประชาชน

สำนักงาน กสทช. ขอขอบคุณสำหรับความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากทุกภาคส่วน และพร้อมน้อมรับทุกข้อคิดเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีเรื่องใดที่สำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนแล้ว จะเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยเร็วต่อไป และสำนักงาน กสทช. ขอให้คำมั่นว่าจะดำเนินการในทุกขั้นตอนให้เกิดความโปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนให้มากที่สุด