“อินฟลูเอนเซอร์” ยุค 4.0 อยากปัง! ต้องเข้าใจแพลตฟอร์ม

“อินฟลูเอนเซอร์” ในปัจจุบันไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนดัง-ดารา-เซเลบ อีกแล้ว จึงกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่วัยรุ่นยุคใหม่ใฝ่ฝันจะก้าวเข้าสู่วงการ โดยใช้ YouTube รวมถึงการ Live ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นช่องทางยอดนิยม

“โคซูเกะ โซโก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง AnyMind Group เปิดเผยว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มียอดวิวบน YouTube สูงสุดและอินฟลูเอนเซอร์เติบโตมากที่สุดในโลก โดยเทรนด์การใช้อินฟลูเอนเซอร์ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นเทรนด์ทั่วโลก เมื่อก่อนทีวีอาจจะเป็นสื่อหลัก แต่ตอนนี้การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ส่งผลให้การใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เป็นที่นิยมมาก โดยการเติบโตนั้นมีทั้งจำนวนผู้ชมและอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามประมาณ 2-4 เท่าต่อปี เมื่อส่วนนี้เติบโต เม็ดเงินโฆษณาก็เติบโตมากด้วย ในอาเซียนประเทศที่เติบโตสูง ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ด้วยจำนวนประชากร

อินฟลูเอนเซอร์ไทยโตไว

“คนที่เป็นดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ ผู้บริโภคจะไม่ค่อยเชื่อ เพราะรู้ว่าถูกจ้าง แต่จะเชื่อเพื่อนหรือคนที่ไม่ได้มียอดติดตามเยอะ ทำให้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ได้รับการเอ็นเกจเมนต์มากกว่า ดังนั้นการใช้อินฟลูเอนเซอร์จะใช้สำหรับสื่อสารให้คนในวงกว้างรับรู้ ขณะที่ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เข้ามามีบทบาทในการซื้อ”

ด้าน “พันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท โมอินดี้ ดิจิตอล จำกัด กล่าวเสริมว่า กระแสอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยเติบโตอย่างมาก แม้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่ทุกวันแม้แต่ดาราหันมาทำช่องยูทูบตัวเอง เช่น โน้ส อุดม แต้พานิช, ดีเจเพชรจ้า, แจ๊ส ชวนชื่น ทั้งหลายแบรนด์ลงเงินกับสื่อออนไลน์ 100% แม้จะลงมาที่อินฟลูเอนเซอร์ไม่มาก แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะใช้ช่องทางอื่นอาจจะสร้างการรับรู้ แต่ถ้าจะให้อยากซื้อต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์

โดยหมวดสินค้าที่สนใจใช้อินฟลูเอนเซอร์ ได้แก่ เครื่องสำอาง ไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว รถยนต์ เทลโก้ เกมมิ่ง แบงก์ และอินชัวรันซ์ตัวท็อปโกยหลายสิบล้าน ที่สำคัญคือยูทูบเบอร์ที่เป็นระดับท็อปของไทย มีรายได้ 40-100 ล้านบาท/ปี บางคนออกคอนเทนต์ทุกวัน มีช่องหลายช่อง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จ

สิ่งสำคัญคือต้องหาตัวตนให้เจอก่อนปรากฏการณ์นี้จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะเติบโตโดยอาศัยกระแสนี้ รวมถึงผู้ที่ต้องการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งในส่วนของ AnyMind Group เพิ่งได้ซื้อกิจการของบริษัท โมอินดี้ ดิจิตอล จำกัด ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนการทำคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งในระดับ micro และ macro มากกว่า 35,000 คน รวมผู้ติดตามกว่า 180 ล้านคน ใน Facebook, Instagram, Youtube, Line และ Twitter รวมถึงมีสำนักงาน 13 แห่ง ใน 11 ประเทศทั่วเอเชีย โดยความร่วมมือนี้จะเป็นโอกาสในการส่งออกอินฟลูเอนเซอร์ไทยไปต่างประเทศ

“ตอนนี้อินฟลูเอนเซอร์เนื้อหอม ทำให้แบรนด์จ้าง แต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหาที่ทำงานไม่ตอบโจทย์แบรนด์, ทิ้งงานกลางทาง ส่งผลให้แบรนด์อาจจะเสียชื่อเสียงได้ ซึ่งบางรายไม่ได้แคร์ เพราะเดี๋ยวก็มีแบรนด์อื่นมาจ้าง แต่สุดท้ายอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ก็จบ ไม่มีแบรนด์จ้าง โมอินดี้จึงเข้าไปช่วยด้านการทำคอนเทนต์ ทั้งโปรดักชั่น, การสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ มีระบบป้องกันการรั่วไหลของคอนเทนต์ รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย โดยบริษัทจะแบ่งรายได้จากค่าโฆษณา, ยอดวิว แล้วแต่ตกลงกันกับครีเอเตอร์”

ต้องเข้าใจแคแร็กเตอร์

อย่างไรก็ตาม อินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้มาแทนที่สื่อหลัก เพียงแต่ผู้บริโภคเปลี่ยนช่องทางการเข้าถึงคอนเทนต์ ดังนั้นการผลิตคอนเทนต์ต้องวางแผนให้สื่อสารกับผู้ชมในทุกแพลตฟอร์ม โดยต้องเข้าใจแคแร็กเตอร์ของแต่ละแพลตฟอร์มที่มีวิถีการเสพเนื้อหาที่ต่างกัน เช่น ยูทูบเหมาะกับวิดีโอยาว 5 นาทีขึ้นไป เฟซบุ๊กเป็นคอนเทนต์สั้น ๆ ไม่กี่นาที แต่อินสตาแกรมจะอยู่ที่หลักวินาที

“2-3 ปีที่แล้ว ท็อป 100 ของยูทูบมีแค่ 10 ช่องที่เป็นยูทูบเบอร์ที่เหลือเป็นช่องทีวี มียอดวิว 1-2 ล้านวิว แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยน ครีเอเตอร์มียอดวิว 50-200 ล้านวิว/เดือน ตอนนี้แพลตฟอร์มก็ข้ามไปที่เฟซบุ๊กบ้าง แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอะไร เทรนด์ไปวิดีโอทั้งหมด”