ชวน SMEs ไทยบุกตลาดออนไลน์ “อเมซอน” ชี้เทรนด์เจาะผู้บริโภคสหรัฐ

หลังจากปล่อยให้อีคอมเมิร์ซแดนมังกรรุกตลาดไทยมาพักใหญ่ ในที่สุด “Amazon” ยักษ์อีคอมเมิร์ซจากสหรัฐก็เริ่มรุกตลาดไทยอย่างจริงจัง ด้วยการตั้ง “สำนักงาน” ในไทย แต่ไม่ใช่เพื่อนำสินค้าจากโลกตะวันตกบุกตลาดไทย แต่เป็นการชวน SMEs ไทย ให้ส่งสินค้าไปขายบน Amazon ตามเทรนด์ CBEC (Cross Border e-Commerce) ตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ

โดย “เบอร์นาร์ด เทย์” ผู้อำนวยการอเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา การขายสินค้าแบบ CBEC มีสัดส่วน 15% และคาดว่าปีนี้จะขยับไปถึง 29% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งหมด ซึ่งในปีที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเติบโตถึง 23% แต่ตลาดค้าปลีกโตแค่ 6%

ที่ผ่านมา สินค้าจากไทยที่นิยมใน Amazon.com ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวสหรัฐอเมริกา เช่น น้ำแกงกะทิสำเร็จรูป, เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา, ปากการะบายสีรองเท้า, กล้วยฉาบ และนวมชกมวย บางรายยอดขายเกิน 6 แสนชิ้น

ก่อนนี้ Amazon มีสำนักงานที่สิงคโปร์ดูแลทั้งอาเซียน ล่าสุดได้ตั้งสำนักงานและทีมในไทย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพใน CBEC ทั้งฐานการผลิตที่แข็งแรง โดย Deloitte ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน MITI-V หรือ Mighty Five ผู้ผลิตทางเลือกที่จะกลายเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลก มีประสบการณ์ในการส่งออก โดยปีที่ผ่านมาโต 7.7% และมีความตื่นตัวในกระแสอีคอมเมิร์ซจากการที่ภาครัฐผลักดันดิจิทัลไทยแลนด์ ทั้งยังมี SMEs กว่า 3 ล้านราย คิดเป็น 99.7% ของธุรกิจทั้งหมด

“แต่ผู้ประกอบการไทยยังขาดความรู้เรื่อง CBEC ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร ทีมของอเมซอนจึงเข้ามาช่วยได้ตั้งแต่การให้ความรู้ในระดับต้น มีหลักสูตร Jump Start เป็นคลาสเรียนที่จัดประจำทุกเดือน จนถึงการร่วมมือกับภาครัฐเกี่ยวกับการส่งออก”

โดยโฟกัสที่กลุ่ม SMEs, แบรนด์สินค้า อุตสาหกรรมการผลิต และมุ่งในผลิตภัณฑ์ที่ตลาดสหรัฐอเมริกามีความต้องการ ได้แก่ 1.สินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกาย 2.อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 3.สินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง 4.เครื่องกีฬา และ 5.ของเล่น

“การส่งออกสินค้าจริง ๆ มีความต่างในรายละเอียดจากการขายในประเทศ เช่น เอกสารในการจดเป็นผู้ค้า การทำโปรโมชั่นหรือคอนเทนต์ที่เหมาะกับผู้ซื้อในแต่ละประเทศ และสุดท้ายโลจิสติกส์ที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ Amazon มีบริการฟูลฟิลเมนต์ ครอบคลุมถึงบริการดูแลลูกค้า เช่น คอลเซ็นเตอร์”

สำหรับบริการ Fulfillment By Amazon (FBA) มีทั้งระบบขนส่ง, จัดการคลังสินค้า และคอลเซ็นเตอร์ โดยมีคลังสินค้ากว่า 175 แห่งทั่วโลก มีฐานลูกค้า 185 ประเทศ รวมกว่า 300 ล้านราย เป็นลูกค้าชั้นดีกว่า 100 ล้านราย ที่มีการซื้อสินค้าประจำผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ 18 เว็บไซต์

ยอดขายผู้ค้ารายย่อยบน Amazon ล่าสุดปี 2561 มีสัดส่วนถึง 58% มี SMEs กว่า 2 แสนรายที่มียอดขายกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ และ 5 หมื่นรายที่ยอดขายเกิน 5 แสนเหรียญสหรัฐ ส่วนร้านที่มียอดขายเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเติบโตขึ้นกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา

“ผู้ขายไทย เช่น พีเจ วู้ด (PJ Wood) ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากยางพารา เติบโตกว่า 150% ภายใน 2 ปี, แบรนด์วิริสมาหรา (Viris Zamara) แบรนด์เสื้อผ้าของไทย ที่เติบโตกว่า 50%”

ส่วนรายได้ของ Amazon มาจาก 3 ช่องทาง คือ 1.ค่าบริการรายเดือนบนแพลตฟอร์ม เดือนละ 39.99 เหรียญสหรัฐ 2.ค่าคอมมิสชั่น 3.ค่าบริการเซอร์วิส เริ่มต้น 1-2 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น

“แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการเปิดเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลซในไทย หรือการจัดตั้งคลังสินค้าในไทยหรือไม่ ส่วนความร่วมมือใหญ่ ๆ กับภาครัฐเหมือนอาลีบาบายังไม่มีแผนในตอนนี้”