Pacific Biodiesel เชื้อเพลิง-ความงามเป็นของคู่กัน

คอลัมน์ Startup ปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

เวลาพูดถึงอุตสาหกรรมพลังงานกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง หลายคนคงคิดไม่ออกว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่สตาร์ตอัพวันนี้ เป็นทั้งผู้ผลิตพลังงานไบโอดีเซลแห่งแรกของฮาวาย แถมยังสกัดน้ำมันจากพืชเพื่อผลิตเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ด้วย

บริษัทนี้มีชื่อว่า Pacific Biodiesel ก่อตั้งโดยคู่สามีภรรยาชาวฮาวาย นามว่า “บ็อบกับเคลลี่ คิง” ในปี 1995

ตอนนั้น “บ็อบ” ยังเป็นเจ้าของบริษัทดูแลเครื่องปั่นไฟให้หลุมฝังกลบขยะแห่งหนึ่งที่เกาะเมาวี (เกาะใหญ่ที่สุดของฮาวาย) แล้วพบว่าหนึ่งในขยะเปียกที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ชาวบ้านชอบทิ้ง คือ น้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว จึงคิดจะนำไปรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงป้อนเครื่องปั่นไฟแทน

นั่นคือที่มาของโรงงานผลิตไบโอดีเซลแห่งแรก ๆ ของอเมริกา “บ็อบ” ตั้งชื่อบริษัทว่า Pacific Biodiesel ขยายกิจการมาเรื่อย แต่เพราะความต้องการพลังงานทางเลือกเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องหาวัตถุดิบอื่นเพิ่ม ก็พบว่าพืชที่เกษตรกรท้องถิ่นปลูกกัน อย่างสบู่ดำ ดอกทานตะวัน ดอกคำฝอย ถั่วเหลือง และถั่ว Kukui นั้น สกัดเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย เขาจึงเริ่มกว้านซื้อผลผลิต โดยเลือกจากไร่ที่ปลอด GMO และสารเคมีเท่านั้น

ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำให้บ็อบและเคลลี่หันมาสนใจวงการเครื่องสำอางนั้น เริ่มขึ้นในปี 2015 เมื่อสังเกตว่าฟาร์มที่ปลูกถั่วแมคาเดเมียมักคัดเศษถั่วแตก ๆ หรือรูปทรงไม่ได้มาตรฐานทิ้งเป็นจำนวนมาก ด้วยความเสียดายเขาเลยรับซื้อถั่วเหลือทิ้ง มาสกัดเอาน้ำมันมาใช้ผลิตเครื่องสำอางอย่างแชมพูสระผมและเซรั่มบำรุงหน้า

2 สามีภรรยาจริงจังกับผลลัพธ์ที่ได้มากจนตัดสินใจตั้งอีกบริษัท เพื่อผลิตน้ำมันป้อนโรงงานทำเครื่องสำอางและโรงงานน้ำมันทำอาหาร

และยังตั้งบริษัทลูก ผลิตเครื่องสำอางเองภายใต้แบรนด์ Kuleana Beauty (Kuleana เป็นภาษาฮาวายแปลรวม ๆ ว่าความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ)

ผลิตภัณฑ์ทุกตัว ล้วนผลิตจากพืช nonGMO ย่อยสลายเองได้ ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอม สารเคมี และสี

วัตถุดิบหลัก คือ น้ำมันสกัดแมคาเดเมีย ถั่ว Kukui (ที่กำลังฮิตมาก เพราะอุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ) มะพร้าว อะโวคาโด และดอกทานตะวัน

ทั้งยังผลิตครีมกันแดดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปะการัง หลังมีผลวิจัยว่า สาร oxybenzone ที่มักพบในครีมกันแดดเป็นตัวการสำคัญที่ไปเคลือบผิวปะการังจนทำให้พวกมันเปราะบาง ขาดสารอาหาร และตายในที่สุด ซึ่งหมู่เกาะยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอย่าง ฮาวาย และหมู่เกาะ Virgin Islands ล้วนได้รับผลกระทบ

เมื่อพบว่าแนวปะการังอันสวยงามของบ้านเกิดกำลังจะสูญพันธุ์ “บ็อบ” จึงต้องมองหาตัวช่วยที่ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย จึงผลิตครีมกันแดดจากพืชและแร่ธาตุ ปราศจากสารเคมีที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปะการังอย่างสารoxybenzone และ octinoxate

เรียกว่ามาถูกจังหวะพอดี เพราะฮาวายเพิ่งสั่งห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมี 2 ตัวนี้บริเวณชายหาดเด็ดขาด และจะห้ามซื้อขายครีมกันแดดที่มีสารเคมี 2 ตัวนี้ไปเลยในปี 2021

ถึงจะไม่หยุดนิ่งในการหาธุรกิจใหม่ ๆ แต่บ็อบกับเคลลี่ยังยึดมั่นในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะแตกไลน์ขยายกิจการไปอย่างไร โจทย์ตั้งต้นยังเริ่มที่คำถามว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าของตนเป็นมิตรต่อผู้ใช้ ไม่ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งทั้งคู่เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า การทำธุรกิจแบบยั่งยืนทำได้ หากใส่ใจ จริงใจ และจริงจังกับการแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!