ดิจิทัลคอนเทนต์แข่งดุ ยักษ์รุมชิงแชร์ 2 หมื่นล้าน

แม้ YouTube จะเป็นช่องทางเสพย์คอนเทนต์ออนไลน์หลักกว่า 92% ของนักท่องอินเทอร์เน็ต 40 ล้านคนในประเทศไทย โดย 55% ใช้ดูทีวีย้อนหลัง ทั้งยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอื่น ๆ อย่าง LINE Facebook IG Twitter ก็เริ่มเปิดฟังก์ชั่นวิดีโอออนไลน์หรือสตรีมมิ่ง เพื่อให้สอดรับกับผู้บริโภคยุคใหม่แล้วแต่ก็ยังมีผู้ผลิตคอนเทนต์อีกไม่น้อยที่กล้าทุ่มสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์ของตัวเองเข้าสู้ศึก

“ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กล่าวว่า แพลตฟอร์มคอนเทนต์ออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญของผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกราย และเป็นแหล่งรายได้จากการใช้งบฯโฆษณาออนไลน์ที่เติบโต ซึ่งปีนี้คาดว่าจะแข่งขันกันหนักหน่วงเหมือนทุกปี

ในส่วนของบริษัทยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ Universe of Entertainment เป็นอาณาจักรคอนเทนต์บันเทิงครบทุกรูปแบบ นำเสนอแบบ total media solutions จากจุดแข็งที่บริษัทมีทั้งสื่อออฟไลน์และออนไลน์ในมือ ซึ่งหลังจากประกาศทิศทางนี้ตั้งแต่ ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ทั้งในส่วนที่เป็นรายได้จากคอนเทนต์ของ MONO เอง และการรับบริหารสื่อโฆษณาให้ผู้อื่น

“ในแง่ของธุรกิจทั่วไป การผลิตคอนเทนต์เองมีต้นทุนหนักกว่าไปซื้อคอนเทนต์ แต่การมีคอนเทนต์เป็นของตัวเองสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากทรัพย์สินทางปัญญาได้”

สร้างแพลตฟอร์ม-พึ่ง YouTube

การจะพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง หรือไปพึ่งพาเจ้าอื่นด้วยการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ ต้องแล้วแต่โมเดลธุรกิจ ไม่มีแบบไหนถูกหรือผิด เพราะการลงทุนทำระบบคอนเทนต์ออนไลน์เอง ให้เสถียรให้รองรับคนได้มากต้องใช้ทุนสูงและยุ่งยาก ด้วยต้องอัพเกรดและมีคนดูแลระบบอยู่ตลอดเวลา สร้างระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ที่จะต้องได้มาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ

แต่ถ้ามีทีมขายที่ดี บริหารจัดการระบบที่ดี จะสร้างรายได้กลับมาได้มากกว่าพึ่งรายใหญ่ต่างชาติ อย่าง MONO เลือกใช้แนวทางนี้ โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น MONO29 เพิ่มเติมจากที่มี MThai VDO มีแพลตฟอร์มคอนเทนต์ออนดีมานด์ “MOMO Maxx” ซึ่งได้คืนทุนจากการลงทุนทั้งหมดมาตั้งแต่ 2 ปีแรกที่ให้บริการแล้ว

“การกระจายโฆษณาของ YouTube จะเท่า ๆ กันหมด ไม่ว่าคุณจะเป็นคอนเทนต์ที่ตั้งใจทุ่มทุนสร้างหรือคอนเทนต์แบบเตะหมาเตะแมวมาลง บางทีแบบหลังได้ยอดวิวสูงกว่า ได้ยอดโฆษณาสูงกว่า และด้วยยอดส่วนแบ่งรายได้ของ youtube ที่ถูกถอดมาออกมาหลายระดับ จนกว่าจะมาถึงปลายทางอาจจะได้เงินส่วนแบ่งไม่มาก แต่ youtube ก็เป็นช่องทางเผยแพร่คอนเทนต์ให้เข้าถึงคนทั่วโลก”

สพธอ.ดันแพลตฟอร์มกลาง

ด้าน “สุรางคณา วายุภาพ” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. กล่าวว่า แต่ละปีมีนักศึกษาด้านศิลปกรรมจบการศึกษาว่า 5,000 คน ขณะที่การเติบโตของดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยเป็นไปอย่างก้าวกระโดด แต่ละปีมีมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เฉพาะที่เป็นคอนเทนต์บันเทิงอยู่ที่กว่า 6.5 พันล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปีนี้เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลจะเกือบ 20,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ 16,928 ล้านบาท แต่ปัญหาคือ ประเทศไทยไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์ของตัวเอง

“คนไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ และเป็นผู้ใช้ YouTube มากติดอันดับโลก แต่รายได้กลับเข้ามาในประเทศไทยน้อยมาก ด้วยข้อจำกัดของแพลตฟอร์ม จึงได้ร่วมกับ บมจ.อสมท พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มกลางของคนไทย ในชื่อ “WHAM” ถือเป็นความท้าทายและเป็นช่องทางส่งเสริมให้เกิดธุรกิจความคิดสร้างสรรค์ เป็นช่องทางสร้างอาชีพให้กับคนไทยในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์”

โดยเตรียมงบประมาณในปีนี้ไว้ 10 ล้านบาท และให้ อสมท ซึ่งเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เข้ามาช่วยพัฒนารวมถึงบริหารจัดการสิทธิในแพลตฟอร์ม รวมถึงการดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การบริหารจัดการด้านรายได้ให้กับนักพัฒนาคอนเทนต์ให้มีความเป็นธรรม โดยคอนเทนต์บน WHAM จะมีทั้งความรู้ ความบันเทิง ดนตรี การสร้างแรงบันดาลใจ ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีจัดการข้อมูล (data analytics) เพื่อพัฒนา “WHAM” ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์กลางของอาเซียนด้วย

ผู้ชมอยู่ไหน-คอนเทนต์อยู่นั่น

“สรรเสริญ สมัยสุต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม “ทรูไอดี” กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาจะเห็นภาพการใช้ทรูไอดีเป็นช่องทาง synergy ธุรกิจภายในเครือมากขึ้น แต่ปีนี้จะเริ่มเห็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยมาเผยแพร่และสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มทรูไอดี

ด้าน “ภาวิต จิตรกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า ในปี 2561 ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มของบริษัทโตถึง 83% ซึ่ง YouTube เป็นช่องทางหลักของวิดีโอคอนเทนต์ ปีนี้ยังเดินหน้าธุรกิจนี้ต่อเนื่อง ทั้งที่เป็น original content และ exclusive โดยจับมือกับพันธมิตรหลากหลาย ทั้ง LINE TV, AIS Playbox, JOOX ฯลฯ

“หลักคิดของเรา คือ ผู้ชมอยู่ที่ไหน ต้องมีคอนเทนต์เราที่นั่น ไม่ได้คิดว่า ต้องเป็นคู่แข่งกันหรือจำกัดไว้แต่ช่องทางตัวเอง”

ขณะที่ทีวี “ช่อง 7” สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์ของตัวเอง คือ BUGABOO.tv ตั้งแต่ปี 2554 ให้บริการแบบดูฟรี เพื่อหารายได้โฆษณาเอง จ นมีผู้ชมกว่า 112 ล้านครั้งต่อเดือน ล่าสุดได้พัฒนา “BUGABOO INTER” ให้บริการคอนเทนต์ออนดีมานด์แบบไม่มีโฆษณา มีค่าบริการรายเดือนเริ่มต้น 59 บาท ซึ่งมียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์แล้วกว่า 4 ล้านครั้ง และยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นกว่า 70,000 ครั้ง

ส่วน “ช่อง 3” โดย บริษัท BECi Corporation ได้สร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง คือ เว็บไซต์ Mello.me และแอป “MelloThailand” เปิดตัวต้นปี 2561

ขณะที่รายได้จะมีทั้งจากโฆษณา และการร่วมผลิตคอนเทนต์กับพาร์ตเนอร์

โดยคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มทั้ง BUGABOO และ Mello.me มีทั้งคอนเทนต์ที่ฉายจากฟรีทีวีของช่องตัวเอง และคอนเทนต์เฉพาะของแพลตฟอร์ม